บาทเปิดตลาดอ่อนค่าแตะ 32 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 3 ปี คาดเม็ดเงินไหลออก กังวลเฟดลดขนาด “คิวอี” นักบริหารเงินยอมรับ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับทุกสกุล นักวิเคราะห์หวั่น “เงินบาท-ริงกิต” เสี่ยงถูกเทขายต่อจาก “รูปี-รูเปียห์” เนื่องจากมีการขาดดุลการคลังสูง เศรษฐกิจชะลอตัว และต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก
นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวถึงการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในวันนี้ (22 ส.ค.) โดยระบุว่า เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.02/04 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.81/83 บาท/ดอลลาร์
“วันนี้เงินบาทอ่อนค่าไปแตะที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์แล้ว เป็นเพราะดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับทุกสกุล โดยเป็นผลมาจากการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่ยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการชะลอมาตรการ QE ออกมา”
ส่วนแนวโน้มการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้คาดอยู่ที่ 32.00-32.20 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ ถือเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 3 ปี
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า เงินสกุลบาท และเงินสกุลริงกิต กำลังมีความเสี่ยงที่จะถูกเทขายต่อจากเงินรูปี ของอินเดีย และเงินรูเปียห์ ของอินโดนีเซีย เพราะมีปัญหาขาดดุลการคลังสูง เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว และต่างชาติมีการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ มาเลเซีย และไทย อาจเป็นเป้าหมายต่อไปของนักลงทุน หลังจากค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย และเงินรูปีอินเดีย ถูกเทขายอย่างหนัก จนก่อให้เกิดความวิตกว่าการอ่อนค่าของค่าเงินอาจเกิดกับประเทศอื่นในเอเชียที่เปราะบางต่อผลกระทบในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเริ่มลดการเข้าซื้อพันธบัตร
นอกจากนี้ มาเลเซีย และไทยถูกมองว่า เป็นตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเทขายรายต่อไป หลังจากหุ้น และค่าเงินอินโดนีเซียร่วงลงเพราะนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการขาดดุลบัญชีเดิน
การที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า มาเลเซียเสี่ยง อาจเป็นเพราะต่างชาติถือครองพันธบัตรอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง นอกจากนั้น ยังมีหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาครัฐในระดับสูง และความพยายามปฏิรูปการคลังก็ไม่ค่อยคืบหน้า
โดยปีนี้ ค่าเงินริงกิตอ่อนค่าเกือบต่ำสุดในรอบ 3 ปี ที่ประมาณ 3.3 ริงกิตต่อดอลลาร์ หรือลดลงกว่า 7% เทรดเดอร์ประมาณการ ว่า ธนาคารกลางใช้เงินเกือบ 1,300 ล้านดอลลาร์ในการปกป้องค่าเงินในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา