โบรกฯ ให้น้ำหนัก 3 ปัจจัยหลัก กดดัน “ตลาดหุ้น” ไตรมาส 3/56 ยอมรับการเมืองแซงขึ้นอันดับแรก เพราะถึงจุดที่การเมืองอาจทำให้เสถียรภาพรัฐบาลเปลี่ยนแปลง หรือสั่นคลอนได้จากการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับหลายกลุ่ม ส่วนกำไร บจ. เป็นอันดับ 2 และปัญหา ศก.จีน เป็นอันดับ 3 ส่วนปัจจัยภายนอกอื่นๆ ความกังวลลดลงไปแล้ว
นางภรณี ทองเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 3/56 ให้น้ำหนักที่สถานการณ์ทางการการเมือง 50% กำไรบริษัทจดทะเบียน 30% ภาวะเศรษฐกิจจีน 20% สาเหตุที่ให้น้ำหนักการเมืองสำคัญสุดเพราะเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจประเด็นหนึ่ง วันนี้ถึงจุดที่การเมืองอาจทำให้เสถียรภาพรัฐบาลเปลี่ยนแปลง หรือสั่นคลอนได้จากการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับหลายกลุ่ม
“การเมืองเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ถ้ารัฐบาลสั่นคลอน การพิจารณากฎหมายในแง่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะไม่เกิดขึ้นตามแผน ซึ่งการประชุมสภาฯ จะกินเวลาทั้งเดือน ส.ค.ทำให้ไตรมาส 3 เป็นไตรมาสแย่สุด แต่ดัชนีไม่น่าลงต่ำกว่านี้ เพียงแต่ไม่ไปไหนไกลจะแกว่งตัวไซด์เวย์”
ส่วนปัจจัยภายนอกอื่นๆ ลดความกังวลลงแล้ว หลังจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวทั้งตัวเลขบ้าน และค้าปลีกมีสัญญาณฟื้นตัวดีมาก ขณะที่ฝั่งยุโรปแม้เศรษฐกิจยังหดตัว แต่ก็ติดลบลดลง คงมีเพียงจีนที่ยังมีอิทธิพลต่อตลาดจากเดิมเศรษฐกิจที่ลดลง โดยนักเศรษฐศาสตร์โลกคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจีนจะเติบโต 6% แต่ส่วนตัวมองไว้ที่ 5% กว่าๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ จากคาดการณ์ของแต่ละสำนักจะรวมปัจจัยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐไว้ด้วย ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เมื่อโครงการจัดการน้ำต้องนับหนึ่งใหม่ก็คงไม่เกิดขึ้นใน 1 ถึง 1 ปึครึ่ง คาดกว่าจะเกิดในปี 58 ขณะที่โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทนั้น หากวันที่ 4 ส.ค.หรือ 7 ส.ค.เกิดความวุ่นวายจนสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลก็จะกระทบการผลักดันนโยบาย
ด้านกำไร บจ.นั้น หลังกลุ่มธนาคารประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/56 ออกมาต่ำกว่าคาด เพราะการตั้งสำรองหนี้มีปัญหาเกินกว่านโยบาย และครึ่งปีหลังอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งการบริโภคภาคครัวเรือนของไทยเริ่มหดตัวตั้งแต่ เม.ย.-พ.ค.56 การลงทุนภาคเอกชนก็ชะลอตัวตั้งแต่ เม.ย. ดัชนีเหล่านี้บ่งชี้ว่าถ้าการเมืองมีปัญหาการลงทุนภาครัฐกระตุกก็จะกระทบแบงก์
ขณะที่กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (real sector) เช่น กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงานไตรมาส 2/56 กำไรแย่ลง เพราะรายได้ที่เกิดจกาการขายอิงราคาผลิตภัณฑ์ตลาดโลก จึงมีโอกาสมากที่นักวิเคราะห์จะปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น
นักลงทุนควรจับตาการประเมินเศรษฐกิจไทยในมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เคยคาดการณ์ว่า ปีนี้จะเติบโต 5.6% จะปรับลงมาที่เท่าใด หากปรับลงต่ำกว่าหลายสำนัก หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ที่ประมาณ 4% ก็จะมีผลต่อตลาดหุ้นอีกครั้ง เพราะขณะนี้ตลาดปรับลงมาสะท้อนการปรับลดประมาณการของ ธปท.ที่ 4.2% ไปแล้ว
ดังนั้น มองทิศทางดัชนีหุ้นในปีนี้ กรณีแย่สุดหากการเมืองร้อนแรงจะลงไปที่ 1,330 จุด ค่า P/E 14 เท่า หากตลาดดีมองโอกาสที่จะไป 1,450-1,500 จุด ปลายปี