xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ มองทิศทางตลาด ส.ค.ซึมยาว แนะเกาะติดชุมนุม 4 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
นักวิเคราะห์ประเมินทิศทางตลาดหุ้นช่วงการเมืองร้อน แม้เปิดสภาฯ จะไม่มีความรุนแรง แต่การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และการชุมนุมวันที่ 4 ส.ค. ยังถือเป็นปัจจัยกดดัน คาดแนวโน้ม 2 ส.ค. อาจรีบาวนด์ต่อได้ แต่ระวังแรงขายลดความเสี่ยงวันหยุด

น.ส.จิตรา อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส มองการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยวันนี้ (1 ส.ค.) โดยระบุว่า เป็นการรีบาวนด์ขึ้นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในการประชุมที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนคลายกังวล

“เมื่อวานนี้หุ้นไทยลงไปแรง วันนี้พอรีบาวนด์ก็จึงขึ้นได้แรงกว่าเพื่อนบ้าน แต่มูลค่าการซื้อขายเบางบางลงเหมือนวันก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนรอดูการเมือง ซึ่งจะมีการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 4 ส.ค.นี้”

แนวโน้มตลาดหุ้นวันพรุ่งนี้ คาดว่าดัชนีจะทรงตัว เพราะดัชนีปรับขึ้นแรงในวันนี้ โดยมองดัชนีแถว 1,440 จุด เมื่อดัชนีปรับขึ้นนักลงทุนอาจขายทำกำไร เพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจมีการชิงไหวพริบ และเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน

ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ต่างชาติมีการขายสุทธิในวันนี้ 319 ล้านบาท สวนทางนักลงทุนทุกกลุ่มที่มีการซื้อสุทธิ อาจเป็นการทำกำไรเพราะก่อนหน้านี้ ต่างชาติได้ซื้ออย่างต่อเนื่อง ขณะที่โบรกเกอร์บางแห่งมองว่า ดัชนีหุ้นที่ปรับขึ้นในวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการรีบาวนด์ทางเทคนิคเพราะตลาดผันผวนปรับลงแดนลบมาหลายวัน

ด้านนายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ยอมรับว่า วันนี้นักลงทุนเริ่มคลายความวิตกปัจจัยการเมืองในประเทศ เรื่องการชุมนุมต่อต้านการนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เข้าสภาฯ ซึ่งยังไม่มีสัญญาณความรุนแรงเกิดขึ้น

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในวันพรุ่งนี้ คาดว่าดัชนีแกว่งตัวผันผวนในแดนบวก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การเมืองในประเทศ หลังรัฐประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงฯ ในระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค.นี้ ในกรุงเทพฯ 3 เขต คือ พระนคร ดุสิต และป้อมปราบศัตรูพ่าย

พร้อมกันนี้ คงต้องเกาะติดสถานการณ์การชุมนุมซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 4 ส.ค.นี้ เพื่อคัดค้านการนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 7 ส.ค.นี้ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น