หากพูดถึงสินค้าโภคภัณฑ์ คนส่วนใหญ่คงนึกถึงทองคำเป็นอันดับแรกๆ และนอกจากทองคำแล้วยังมีสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นอีกมากมาย เพราะว่าสินค้าโภคภัณฑ์ หมายถึง สินค้าที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งตัวสินค้าจะถูกกำหนดให้มีความแตกต่างกันบ้างตามแต่ละคุณภาพของตัวสินค้า โดยเราสามารถแยกประเภทได้ดังนี้ 1.พลังงาน เช่น น้ำมันดิบ,น้ำมันกลั่น,น้ำมันเบนซิน เป็นต้น 2.โลหะอุตสาหกรรม เช่น ทองแดง,นิกเกิล,ตะกั่ว เป็นต้น 3.โลหะมีค่า เช่น ทองคำ,เงิน,ทองคำขาว และพาลาเดี้ยม 4.สินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี,ข้าวโพด,ถั่วเหลือง,กาแฟ เป็นต้น
แล้วการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นั้นจะช่วยสร้างประโยชน์หลายด้านต่อพอร์ตการลงทุนของเรา เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำหรือในทิศทางตรงกันข้ามกับสินค้าทางการเงิน (financial assets) เช่น หุ้นสามัญ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้ โดยหากในช่วงที่ตลาดทุนผันผวน ก็ยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์มาชดเชยกันได้ และเวลาที่เกิดความกังวลถึงปัญหาเงินเฟ้อ ทองคำนั้นจะมีประโยชน์มากในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ยิ่งไปกว่านั้นราคาของสินค้าโภคภัณฑ์มักมีผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพและเป็นส่วนประกอบข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น มักจะเป็นตัวเร่งให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
นอกจากนั้นยังสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนไม่แพ้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นสามัญด้วย ทางเลือกการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น 1.การลงทุนโดยตรง เช่น การลงทุนในทองคำแท่งโดยซื้อจากร้านทองแถวเยาวราช อย่างไรก็ดีการลงทุนตรงในทองคำแท่งก็มีความเสี่ยงเรื่องการสูญหาย และมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา 2.การลงทุนในสัญญาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (Commodities Futures) ทั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า(AFET) และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(TFEX) 3.การลงทุนทางอ้อม เช่น ลงทุนในหน่วยลงทุนของ ซึ่งเป็นกองทุนที่รวบรวมเงินนักลงทุนไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อีกทอดหนึ่ง เช่น กองทุนทองคำ แต่ผู้อ่านและคิดที่จะเริ่มต้นการลงทุนนั้นต้องตระหนักว่าทุกๆการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนนั้นย่อมต้องมีความเสี่ยงติดมาเป็นเงาตามตัว ยิ่งผลตอบแทนมาก ความเสี่ยงในการขาดทุนก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากดูจากทองคำก็จะเห็นชัดว่าราคาทองคำสามารถขึ้นจากไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พุ่งไปทำจุดสูงสุดที่ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงเวลาไม่กี่ปี และปัจจุบันเคลื่อนตัวอยู่ในบริเวณ 1,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์
"จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับพอร์ตของตัวเอง หรือช่วยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีความเสี่ยงตามความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามอุปสงค์ และอุปทานของตลาดโลก"