ผู้ว่าการ ธปท. ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังอาจเผชิญความผันผวนตลาดเงินโลก พร้อมมอง “จีดีพี” เติบโตที่ 4.2% ยังไม่ต่ำกว่าศักยภาพ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังยังคงจะเผชิญกับความผันผวนของตลาดเงินโลก เนื่องจากมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่ได้สงผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบเบ็ดเสร็จ ตลาดเงินจึงยังไม่เห็นภาพชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าระบบการเงินไทยจะไม่เกิดภาวะตึงตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แม้ว่าอาจจะเกิดภาวะเงินทุนจากต่างประเทศไม่ได้ไหลกลับเข้ามา หลังจากที่ไหลออกไปในช่วงก่อนหน้านี้ เพราะที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ามาค่อนข้างมากทำให้ไทยมีสภาพคล่องสูง ซึ่งทาง ธปท. ดูแลอยู่
“ยอมรับว่าตลาดเงินยังมีความอ่อนไหวพอสมควร เพราะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศว่าจะลดมาตรการ QE ทำให้ตลาดตอบรับแบบ over reaction บ้าง แต่ผลทดสอบ stress test ของไทย อัตราดอกเบี้ยกระตุกบ้าง แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดเงินโลก ซึ่งถือว่าไม่รุนแรง”
ขณะที่ไทยยังมีดุลการชำระเงินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไม่เปราะบาง ผสมกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังแข็งแกร่ง และไม่ได้มีแนวโน้มไปในทางที่เปราะบาง ก็เชื่อว่าปัจจัยรอบด้านจะทำให้ไทยสามารถรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่ต้องไม่ประมาท เพราะหากมีเหตุการณ์อื่นๆ เข้ามากระทบในระยะสั้นบ่อยๆ แล้วเรามีอาการนิ่งก็จะไม่ดี
สำหรับการปรับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว 4.2% นั้น นายประสาร กล่าวว่า ไม่ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพ เพราะเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาค และเศรษฐกิจโลกยังถือว่าดี เพราะที่ผ่านมา ประเทศเหล่านั้นคาดว่าจะเติบโตได้สูง ซึ่งหลักๆ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าก็ชะลอลงด้วย ต้องดูเนื้อใน และรายละเอียด เช่น ด้านชีวิตความเป็นอยู่ และด้านรายได้ของประชาชนว่าอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือไม่
ส่วนความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มเติมนั้น นายประสาร เห็นว่า หากมีการกระตุ้นจากการลงทุนของรัฐบาลที่มีการเบิกจ่ายตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ถือว่าจะเป็นการกระตุ้นเพื่อช่วยสร้างประสิทธิภาพของประเทศในระยะยาว