xs
xsm
sm
md
lg

อดีตขุนคลัง “ธีระชัย” แนะเลิก 3 กติกาบริหาร ศก. ทำชาติหายนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
อดีตขุนคลัง “ธีระชัย” โพสต์สังคมช่วยคิด 3 กติกาในการบริหารเศรษฐกิจ ควรแก้ไข 1.นโยบายประชานิยม 2.การป้องปรามคอร์รัปชัน 3.การคุ้มครองข้าราชการ ย้ำหากไม่เลิกชาติหายนะแน่

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนเเรกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว thirachai phuvanatnaranubala โดยระบุถึงระบบเศรษฐกิจไทยที่ต้องมีการแก้ไขวิธีปฏิบัติใหม่โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นคือ 1.ประชานิยม เนื่องจากพรรคการเมืองจะใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงมากขึ้น และเมื่อแข่งกันลดแลกแจกแถม ในที่สุดประเทศไทยจะเข้าสภาวะหนี้ล้นพ้นตัว

2.ทุจริตคอร์รัปชัน เพราะนักธุรกิจเอกชนหลายรายให้ข้อมูลว่า การเรียกเงินใต้โต๊ะได้ขึ้นไปสูงถึงระดับร้อยละ 40 แล้ว หากไม่แก้ปัญหานี้ให้เด็ดขาดเสียที ประเทศไทยก็มีแต่จะล่มจม และ 3.การคุ้มครองข้าราชการเพื่อทำให้ข้าราชการเป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อทำให้ข้าราชการกล้าที่จะฝืนปฏิเสธนักการเมือง จึงควรจะมีมาตรการคุ้มครองข้าราชการให้มากขึ้น

นายธีระชัย ระบุว่า เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2555 ผมได้เสนอแนวคิดใน Facebook หน้านี้

ผมมีข้อกังวลว่า กติกาในการกำกับดูแล และขอบเขตการบริการด้านเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบัน และรัฐบาลในอนาคต กติกาที่มีกำหนดอยู่ในปัจจุบัน ในกฎหมายต่างๆ ทั้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และในกฎหมายลูก หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้ยังไม่รัดกุมมากพอ

การที่กติกายังไม่รัดกุมพอ จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการคลังได้ในอนาคต

ผมจึงเสนอว่า สมควรมีการคิดแก้ไขกติกาในการบริหารเศรษฐกิจ เพื่อให้มีความยั่งยืนมากกว่านี้

เนื่องจากขณะนี้ ได้มีผู้ที่เข้ามาอ่านหน้านี้มากขึ้น ผมจึงขอนำข้อคิดดังกล่าวกลับมาเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่

- ในต้นปีหน้า กระแสเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้มข้นมากขึ้น ผมจึงเห็นว่านักวิชาการควรใช้โอกาสนี้ ตังคำถามแก่กันว่า ควรแก้ไขกติกาด้านการบริหารเศรษฐกิจอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องกติกาด้านเศรษฐกิจนั้น เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกติกาต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตยังไม่ได้เน้นเรื่องนี้

- ที่ผ่านมา ได้มีการเน้นเรื่องทุจริตเลือกตั้ง เรื่องให้คนดีเข้ามาเป็นรัฐบาล และเรื่องการป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น

- แต่กติกาในด้านการบริหารเศรษฐกิจนั้นยังไม่รัดกุม และหากไม่ทำการแก้ไขปรับปรุงเสียขณะนี้ ในอนาคตประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะประสบหายนะ

- กติกาที่ควรแก้ไขนั้นมี 3 เรื่อง คือ (ก) เรื่องนโยบายประชานิยม (ข) เรื่องการป้องปรามคอร์รัปชัน และ (ค) เรื่องการคุ้มครองข้าราชการ

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องประชานิยม ก็เพราะในอนาคตจะมีพรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงมากขึ้น และเมื่อแข่งกันลดแลกแจกแถม ในที่สุดประเทศไทยจะเข้าสภาวะหนี้ล้นพ้นตัว

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องป้องปรามคอร์รัปชัน ก็เพราะนักธุรกิจเอกชนหลายรายให้ข้อมูลผมว่า การเรียกเงินใต้โต๊ะได้ขึ้นไปสูงถึงระดับร้อยละ 40 แล้ว หากไม่แก้ปัญหานี้ให้เด็ดขาดเสียที ประเทศไทยก็มีแต่จะล่มจม

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องข้าราชการ ก็เพื่อทำให้ข้าราชการเป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อทำให้ข้าราชการกล้าที่จะฝืนปฏิเสธนักการเมือง จึงควรจะมีมาตรการคุ้มครองข้าราชการให้มากขึ้น

- ผมจึงขอเชิญชวนให้นักวิชาการช่วยกันคิดหาวิธีในการปรับปรุงกติกาเรื่องเหล่านี้

- และในสี่ห้าวันต่อจากนี้ ผมจะทยอยเสนอแนวคิดของผมเอง เพื่อขอให้นักวิชาการช่วยกันพิจารณาข้อดีข้อเสีย

ต่อมา วันที่ 16ก.ค. เมื่อเวลาประมาณ 07.50 น. นายธีระชัย โพสต์ข้อความเพิ่มเติมถึงข้อเสนอแนะควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ (2) ตามข้อความดังนี้

- ตามที่ผมเสนอให้มีการแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ โดยดำเนินการสามเรื่อง คือ (ก) เรื่องนโยบายประชานิยม (ข) เรื่องป้องปรามคอร์รัปชัน และ (ค) เรื่องคุ้มครองข้าราชการ นั้น

- ในวันนี้ ผมจะขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับกติกานโยบายประชานิยม

- ข้อที่หนึ่ง ควรจำกัดการกู้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมที่ไม่จำเป็น

- เราไม่ควรห้ามพรรคการเมืองเสนอนโยบายประชานิยม เพราะนโยบายบางเรื่องก็เป็นความคิดที่ดี และใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้

- แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลจะใช้เงินจากแหล่งใดเพื่อการนี้

- หากรัฐบาลใช้แหล่งเงินจากการเก็บภาษี หรือหารายได้ หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นชดเชย ก็จะไม่ค่อยมีความเสี่ยง อาจจะเข้าหลักเก็บรายได้จากคนรวย มาช่วยคนจน

- แต่หากรัฐบาลใช้แหล่งเงินจากการกู้ยืมพร่ำเพรื่อ ก็จะทำให้ฐานะของประเทศมีความเสี่ยงสูง

- จึงควรแบ่งนโยบายประชานิยมเป็น 2 ประเภท (ก) ประเภทที่เป็นความจำเป็นแห่งชีวิต เช่น เรื่องรักษาพยาบาล หรือเรื่องการศึกษา เป็นต้น และ (ข) ประเภทที่ไม่ใช่ความจำเป็นแห่งชีวิต เช่น เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร หรือเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ เป็นต้น

- และควรจำกัดขอบเขตการกู้เงิน โดยเปิดให้รัฐบาลใช้แหล่งเงินกู้ เฉพาะสำหรับนโยบายประเภทที่เป็นความจำเป็นแห่งชีวิตเท่านั้น

- แต่สำหรับนโยบายที่ไม่ใช่ความจำเป็นแห่งชีวิต ควรให้รัฐบาลหารายได้ หรือลดรายจ่ายอื่นๆ มาชดเชย

- ข้อที่ส 2 ควรให้พรรคการเมืองประกาศแหล่งเงินสำหรับนโยบายประชานิยม

- พรรคใดที่หาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมควรจะต้องประกาศว่า (ก) นโยบายดังกล่าวจะใช้เงินเป็นจำนวนเท่าใด (ข) จะใช้เงินจากแหล่งใด (ค) หากจะเก็บภาษี ก็ให้ระบุว่าเป็นภาษีชนิดใด เป็นเงินเท่าใด (ง) หากจะหารายได้อื่น ก็ให้แจงรายละเอียด

- แต่นอกจากนี้ ผมเห็นว่าควรแก้ไขกติกาในการแทรกแซงสินค้าเกษตรอีกด้วย ซึ่งผมจะขอเสนอแนวคิดเรื่องนี้ในวันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น