ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเวทีปาฐกถาเรื่องเศรษฐศาสตร์ สับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มุ่งเอื้อประโยชน์คนเฉพาะกลุ่ม และไม่ได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง จวก “เงิน 9 หมื่นล้านอุ้มรถคันแรก เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และมีคุณค่าทางสังคมหรือไม่”
เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (16 ก.ค.) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดงานปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การก่อตั้งคณะขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “พัฒนาประเทศไทย : พัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง หรือพัฒนาคน?” โดยมีคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ เพื่อให้บริการด้านวิชาการแก่สังคม ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของคณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ. ที่ว่า “แสวงปัญญา พัฒนาคน” ถือเป็นการเปิดมิติการศึกษา และเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สู่ด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งด้านการเมือง และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ทั้งนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ. เล็งเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยจบการศึกษาในระดับปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และเคยเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงปาฐกถาใจความโดยสรุปว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า เศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่ว่าด้วยการเงิน แต่ความจริงแล้ว เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีขีดจำกัด และการบริหารจัดการต่างๆ ก็ส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ซึ่งถ้าเศรษฐกิจเติบโตดี รายได้ประชากรเพิ่มขึ้น ก็จะมีส่วนทำให้ปัญหาอื่นๆ ลดลงตามไปด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นมาก แต่ต้องพูดให้ชัดว่าเป็นการพัฒนาแบบไหน ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่รัฐทำมาก ทำน้อย แต่อยู่ที่ว่ารัฐทำอะไร และทำอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ ยกตัวอย่างกรณีการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยกล่าวว่า ปริมาณข้าวไทยเมื่อเทียบกับปริมาณข้าวทั้งโลก รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ที่สามารถทดแทนข้าวได้นั้น ถือว่าน้อยมาก และการรับจำนำข้าวก็ไม่สามารถทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกกระเตื้องขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวนาโดยยกระดับราคาข้าวได้ ในขณะเดียวกัน สินค้าด้านพลังงานซึ่งไม่ได้มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ รัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปดูแล ปล่อยให้มีการขึ้นราคาจนประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อน
“นโยบายรถคันแรก ก็เป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น แต่รัฐบาลต้องนำเงินมาอุ้มโครงการดังกล่าวถึง 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินเหล่านี้ก็มาจากเงินภาษีของประชาชน พร้อมกับตั้งคำถามว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และมีคุณค่าทางสังคมหรือไม่ เมื่อเอาเงินเหล่านี้ไปสร้างโรงพยาบาล หรือสนับสนุนด้านการศึกษา ในขณะเดียวกัน นโยบายการขึ้นราคาน้ำมันก็สวนทางกับนโยบายสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง” ผู้นำฝ่ายค้านกล่าว
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ระบบกฎหมายก็มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจแข็งแรงได้เช่นกัน ประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจึงต้องมีการจัดระเบียบด้านทรัพย์สิน และมีกฎหมายที่เอื้อต่อการจัดการ ทั้งนี้ ในส่วนของระบอบการปกครองนั้น การเลือกตั้งอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ รัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนจำเป็นจะต้องรู้สิทธิหน้าที่ของตัวเองด้วย ไม่ใช่เข้ามาทำหน้าที่แล้วมุ่งแต่แก้ปัญหาของตัวเอง ถ้าอยากมีระบบเศรษฐกิจที่ดี ระบบการเมืองก็สำคัญ ซึ่งทั้งการเมือง และเศรษฐกิจจะต้องพัฒนาไปแบบคู่ขนาน และมีแรงส่งให้พัฒนาซึ่งกันและกันด้วย
“ระบบต้องสร้างมากำกับคน เหมือนกติกาที่คอยกำกับผู้เล่น แต่สำหรับประเทศไทย ชัดเจนแล้วว่า ระบบไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศไทย ดังนั้น การพัฒนาคนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคุณภาพของคนจะเป็นตัวกำหนดสิ่งต่างๆ ในสังคมด้วย ผมยืนยันว่า คนเป็นหัวใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการเมือง ถ้าไม่พัฒนาคนอย่างจริงจัง เศรษฐกิจ และการเมืองก็ไปไม่ได้ คนถือเป็นปัจจัยชี้ขาดในการพัฒนาชาติบ้านเมือง ประเทศไทยจัดสรรเงินลงทุนเพื่อการศึกษาเกือบสูงที่สุดในโลก แต่กลับไม่ได้รับผลตอบแทน” นายอภิสิทธิ์กล่าว ก่อนจะสรุปว่า การพัฒนาที่สมดุล และยั่งยืนนั้น คือ การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำหรับช่วงท้ายของการปาฐกถา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.อ. ได้ซักถามว่า สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทบต่อเศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศนั้น ระหว่างการเจรจาพูดคุย กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สิ่งใดใช้แก้ปัญหาได้ดีกว่า นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องจำเป็น เพราะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในชีวิต และทรัพย์สิน แต่คนที่บังคับใช้กฎหมายก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วย ไม่ใช่ทำผิดกฎหมายเสียเอง ทั้งนี้ เชื่อว่าการแก้ปัญหานั้นต้องมีการเจรจาพูดคุย รัฐบาลที่แล้วก็มีการพูดคุยแต่ไม่เป็นที่เปิดเผย เพื่อไม่ให้เป็นการยกระดับปัญหา ซึ่งจากการพูดคุยนั้นก็นำร่องทดลองในบางพื้นที่ เช่น การยุติความรุนแรงในบางพื้นที่ แต่สำหรับการพูคุยของรัฐบาลชุดนี้ ตนเป็นห่วงว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้มองว่าการพูดคุยคือการแก้ปัญหา แต่กลับใช้การพูดคุยเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ตัวเองมากกว่า