xs
xsm
sm
md
lg

“วิรไท” ชำแหละ ศก.ไทยกำลังถูกลากสู่หายนะ “พิพัฒน์” เตือนใช้เงินนอกงบฯ อาจล้มทั้งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วิรไท” เตือนไทยเผชิญ 5 ปัจจัยเสี่ยง กำลังเดินลงเหวโดยไม่รู้ตัว แถมมีผู้นําไร้ความสามารถ ชี้การใช้นโยบายประชานิยมของฝ่ายการเมืองมากเกินไป ส่งผลให้สัดส่วนของงบที่ใช้ลงทุนน้อยลงจนไม่สามารถลงทุนได้ แถมเข้าไปแทรกแซงเอกชนมากเกินไปจนไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะอุตฯ ข้าว และการเงิน ด้าน “บล.ภัทร” ห่วงการใช้เงินนอกงบฯ ที่แฝงเอาไว้ อาจก่อหนี้โดยไม่รู้ตัว สร้างความเสี่ยงในอนาคต “คลัง” มั่นใจหนี้สาธารณะเอาอยู่เพราะกู้ในประเทศเป็นหลัก

นายวิรไท สันติประภพ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการเสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 6 หัวข้อ “สุมหัวคิด... fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!” โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเดินลงเหว 5 ปัจจัย ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว ประกอบด้วย ปัจจัยการใช้นโยบายประชานิยมของฝ่ายการเมืองมากเกินไป จนทำให้สัดส่วนของงบประมาณการลงทุนน้อยลงจนไม่สามารถลงทุนได้ และปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมลดลงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในอุตสาหกรรมของภาคเอกชนมากเกินไป ทั้งในอุตสาหกรรมข้าว และการเงิน

ปัจจัยต่อมา คือ ภาวะผูกพันล่วงหน้า เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจัยความสามารถของผู้นำและกลไกราชการที่ไม่มีทิศทางอย่างชัดเจน เพราะขาดความสามารถ ไม่มีความเป็นผู้นำที่มีแนวคิดระยะยาว และปัจจัยเสี่ยงสุดท้าย คือ ประเทศไทย โดยเฉพาะภาครัฐ ไม่มีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ไม่มีภูมิคุ้มกันสำหรับอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตของประเทศได้ในอนาคต

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด มองว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ระดับร้อยละ 44.2 ในปัจจุบัน ถือว่ายังสามารถบริหารจัดการได้ แต่มีความเป็นห่วงภาระหนี้นอกงบประมาณของรัฐบาล ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตซึ่งแฝงอยู่ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่จะใช้โครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน เช่น ในโครงการรับจำนำข้าว และการลงทุนร่วมกันกับรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐบาลเข้าไปเผชิญความเสี่ยงเอง และภาวะผูกพันในระยะยาว ซึ่งมองว่าเป็นความเสี่ยงในอนาคต เช่น งบประมาณที่จะใช้ในกองทุนประกันสังคม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนหมู่บ้าน และกองทุนเพื่อการศึกษา

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 44.2 หรือคิดเป็น 5.1 ล้านล้านบาท โดยร้อยละ 93 ของหนี้ทั้งหมด เป็นการก่อหนี้ในประเทศ ซึ่งได้มีการรวมแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศไว้แล้ว ทำให้มั่นใจว่ายังสามารถรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ได้ในระดับหนึ่ง โดยภายในปี 2559 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะสูงสุด ไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งยังพอมีส่วนเหลือไว้สำหรับการทำนโยบายการคลัง ในกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถก่อหนี้ได้ถึงร้อยละ 60 ต่อจีดีพี
กำลังโหลดความคิดเห็น