กระจกไทยอาซาฮี ทุ่มงบ 2,400 ล้านบาท รื้อโรงงานเก่าทิ้ง ผุดโรงงานใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสูง รองรับตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังมาแรง พร้อมเพิ่มคุณภาพสินค้าหนีสินค้าราคาถูกจากจีน ยอมรับปี 56 คาดยอดขายตก 10% จาก 7,500 ล้านบาท เหตุปิดโรงงาน 6 เดือน
นายไพรัตน์พงษ์ มีไทยวาลา กรรมการบริหารอาวุโส บริษัทกระจกไทยอาซาฮี กำจัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่โลกเรามีการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่กระจก โดยเฉพาะกระจกอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กระจกโทรศัพท์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทีวี ฯลฯ
ดังนั้น บริษัทจึงเล็งเห็นว่าควรจะมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตใหม่เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ด้วยการรื้อโรงงานเก่าบนเนื้อที่กว่า 130 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ระยอง ทิ้ง แล้วสร้างโรงงานใหม่ ด้วยงบประมาณ 2,400 ล้านบาท โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะผลิตกระจกอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพโดยเฉพาะ ด้วยกำลังการผลิต 500 ตันต่อวัน ซึ่งจะสามารถเดินกำลังการผลิตได้ในต้นปี 57
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในช่วงที่ปิดโรงงานเพื่อสร้างโรงงานใหม่ระยะเวลา 6 เดือน จะมีผลต่อกำลังการผลิตลดลง รวมไปถึงยอดขายซึ่งโรงงานแห่งนี้จะเน้นสินค้าส่งออกเป็นหลัก โดยคาดว่าจะทำให้ยอดขายรวมในปีนี้ลดลงประมาณ 10% จากยอดขาย 7,500 ล้านบาทในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 6,800 ล้านบาทในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายหลังโรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดจากสินค้ากระจกเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายฮิเดะคิ ชิโออิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กระจกไทยอาซาฮี กล่าวว่า การสร้างโรงงานใหม่ยังเป็นการสร้างความแตกต่างจากกระจกจีนที่เข้าสู่ตลาดไทยจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 20% ของตลาดรวมกระจกในไทยที่มีความต้องการต่อปีประมาณ 6 แสนตัน โดยกระจกจากจีน มีราคาถูกกว่า 20-30% จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ผลิตรายอื่นซึ่งสู้เรื่องต้นทุนไม่ได้ต้องเร่งปรับตัว
ที่ผ่านมา กลุ่มกระจกไทยอาซาฮีมีฐานการผลิตในไทยด้วยกัน 3 โรงงาน คือ โรงงานที่สมุทรปราการ เน้นผลิตกระจกสำหรับงานก่อสร้าง โรงงานที่ชลบุรี เน้นผลิตกระจกสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ และโรงงานระยอง เดิมผลิตกระจกเพื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นโรงงานที่จะรื้อทิ้ง และปรับปรุงใหม่
ส่วนแผนการทำตลาดจะยังมุ่งเจาะตรงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสถาปนิก เจ้าของโครงการ และผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยการปิดโรงงานระยองเพื่อสร้างใหม่ประมาณ 6 เดือน คาดว่าจะทำให้ยอดขายปีนี้ลดลง 5-10% จากปีที่ผ่านมามียอดขายอยู่ที่ 7,500 ล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมกระจก เชื่อว่าจะมีการเติบโตล้อไปกับจีดีพี โดยตลาดภูมิภาคเอเชียถือว่ามีการเติบโตที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น ส่วนอุตสาหกรรมดังกล่าวในไทย จะเติบโตสูงกว่าจีดีพี ประมาณ 2-3% โดยปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกระจกได้รับอานิสงส์จากรถคันแรกทำให้ตลาดขยายตัวมาก แต่ปีนี้จะชะลอตัวลงเล็กน้อย และเติบโตในส่วนของกระจกเพื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทน
ทั้งนี้ ไทยถือเป็นฐานการผลิตสำคัญของกระจกไทยอาซาฮีในภูมิภาคอาเซียน โดยมั่นใจว่าไทยจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาก เพราะนักลงทุนสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการลงทุนในพม่า