สัญญาณตลาดรับสร้างบ้านใน กทม.-ปริมณฑล ครึ่งปีหลังส่ออ่อนแรง แต่การแข่งขันดุเดือด ผู้ประกอบการรายใหญ่อัดแคมเปญแย่งลูกค้า ส่วนทางตลาดต่างจังหวัด คู่แข่งขัน การแข่งขันไม่หนัก “สิทธิพร” แนะผู้ประกอบการระวัง “โจรใส่สูท” ที่แอบแฝงเข้าสู่ธุรกิจฉ้อโกงผู้บริโภค กระทบภาพลักษณ์รับสร้างบ้าน ขอเสนอควรประกาศให้ธุรกิจรับจ้างฯ นี้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ มีข้อกำหนดชัดเจนต้องปฏิบัติ
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดครึ่งแรกของปี 2556 (ม.ค.-มิ.ย.) ว่า ทั้งปริมาณ และมูลค่าตลาดขยายตัวจากปีก่อนหน้า 20% โดยมีปัจจัยสำคัญๆ คือ การขยายตลาดออกไปยังต่างจังหวัด จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล
นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกผู้ประกอบการได้ปรับราคาขายบ้านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-8% ส่งผลให้ตลาดเติบโตตาม เพราะมูลค่าต่อหน่วยที่สูงขึ้นจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ยังถือว่าขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย เนื่องได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบ เรื่องปัญหาแรงงานขาดแคลน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะแม้ว่าผู้ประกอบการจะสามารถทำยอดขายบ้านได้ แต่ก็ขาดแรงงานก่อสร้าง ทำให้ส่งมอบได้ไม่ทันกำหนด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ผู้ประกอบการที่ยังคงใช้ระบบก่อสร้างแบบเดิมๆ หรือที่เรียกกันว่า “หล่อในที่”
ด้านการแข่งขันในช่วงครึ่งปีแรก แยกเป็น 2 ช่วงได้แก่ คือ ช่วงไตรมาสแรก ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันของกลุ่มผู้นำตลาดแบรนด์ชั้นนำ 4-5 ราย โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เน้นทำตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และใช้ระบบก่อสร้างสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูป เช่น กลุ่มซีคอน กลุ่มบิวท์ทูบิวด์ กลุ่มแลนดี้โฮม และกลุ่มพีดีเฮ้าส์ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนไปได้
โดยผู้ประกอบการที่เน้นทำตลาดทั้งใน กทม.-ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าว มีการจัดกิจกรรม ลด แจก แถม กระตุ้นกำลังซื้อ และสะสมยอดขายกันอย่างคึกคักในช่วง 3 เดือนแรก ทั้งนี้ เพื่อจะเร่งก่อสร้างให้ทัน และทำรายได้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ในปีนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่เน้นทำตลาดต่างจังหวัดนั้น พบว่ามีการแข่งขันกันไม่มากนัก หรือไม่รุนแรงเท่าการแข่งขันในตลาดกรุงเทพฯ เพราะมีคู่แข่งในตลาดน้อยราย ส่วนจังหวัดที่มีการแข่งขันในท้องถิ่นค่อนข้างรุนแรง ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี ชลบุรี เป็นต้น
“ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สมาคมฯ สำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งขันในธุรกิจรับสร้างบ้านเพิ่มอีก 3-4 ราย ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านแข่งขันทำตลาดกันอยู่ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด เกือบ 100 ราย โดยการเข้ามาของรายใหม่นี้มีความน่าสนใจที่ เป็นผู้ประกอบการที่ขยาย หรือแตกไลน์มาจากกลุ่มผู้ผลิต และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง” นายสิทธิพร กล่าวว่าและว่า
ประการที่สอง เป็นการนำระบบก่อสร้างบ้านสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูปมาใช้ในการก่อสร้างบ้าน โดยชูจุดขายที่สามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว เพราะผลิตมาจากโรงงานและใช้แรงงานน้อย จึงไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน
สำหรับราคาขายบ้านของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากนัก ด้วยเพราะราคาขายยังสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบรายเดิมที่อยู่ในตลาดนี้มาก่อน แต่ก็มีผู้บริโภคส่วนหนึ่งยอมจะรับราคาดังกล่าวได้ เพราะต้องการความรวดเร็วของระบบก่อสร้าง และคุณภาพที่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายไตรมา 2 บรรดาผู้ประกอบการในกลุ่ม Top 10 มีการจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อกันคึกคักกว่าในช่วง 5 เดือนแรก อาจเป็นเพราะต้องการเร่งยอดขายที่ยังไม่เข้าเป้า ในขณะที่รายเล็กรายกลางแทบไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายใดๆ ออกมากระตุ้นกำลังซื้อเช่นรายผู้นำ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะยังประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ครึ่งปีหลัง กทม.-ปริมณฑลแข่งดุ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง หรือสศค. ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้จะเติบโตอยู่ที่ 5.5% เหลือเพียง 4.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า 14 ประเทศฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ รวมถึงแนวโน้มการใช้จ่าย และลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัว โดยเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้แล้ว
สำหรับ ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งปีหลังนี้ สมาคมฯ ประเมินว่า ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดรับสร้างบ้านน่าจะกลับมาแข่งขันกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังทำยอดขาย หรือรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังถือว่าเป็นช่วงไฮไลต์ของผู้บริโภค ที่จะตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ ประกอบกับบรรดาผู้ประกอบการจะมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นกำลังซื้อพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะพื้นที่แข่งขันในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะมีการแข่งขันกันรุนแรงเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนตลาดต่างจังหวัด จะขยายตัว หรือเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นตลาดใหม่ ซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการจะเลือกใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้าน แทนผู้รับเหมารายย่อยอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะปีนี้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งจากการขยายสาขา หรือเปิดกิจการใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการบางรายแม้ว่าจะไม่มีสาขาต่างจังหวัด ทั้งนี้ การหันมาขยายตลาดต่างจังหวัดของผู้ประกอบการเนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการ หรือมีกำลังซื้อเข้ามาจริง จึงเป็นโอกาสดีที่จะเพิ่มแชร์ส่วนแบ่งตลาดจากผู้รับเหมารายย่อย หรือบ้านสร้างเองปัจจุบันมีบริษัทรับสร้างบ้านสามารถให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัดได้มากกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ
แนะผู้ประกอบการเฝ้าระวังมิจฉาชีพ
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า การขยายตลาดรับสร้างบ้านของผู้ประกอบการที่เคยแข่งขันอยู่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือส่วนกลางออกไปยังภูมิภาคนั้น ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการทั้งในแง่การยอมรับของผู้บริโภค การแข่งขันกับผู้ประกอบการในท้องถิ่น และการบริหารจัดการขององค์กรตัวเอง ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการได้มาตรฐาน รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของราคาค่าก่อสร้างบ้านที่เป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ และบริการอย่างชัดเจน เหมือนที่ผู้บริโภคกรุงเทพฯ เคยสงสัย และสามารถทำความเข้าใจได้ในเวลาต่อมา
อีกประเด็นที่บรรดาผู้ประกอบการตัวจริงเสียงจริง ควรหันมาสนใจ และใส่ใจดูแลผู้ประกอบการด้วยกันเอง และผู้บริโภคมากขึ้น ได้แก่ การแฝงตัวเข้ามาของมิจฉาชีพ และนักธุรกิจที่มีเจตนาฉ้อโกง หรือเอาเปรียบผู้บริโภค โดยสมาคมฯ พบว่า กลุ่มนี้มีการโฆษณารับสร้างบ้านราคาถูกผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งไม่ระบุที่ตั้งสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง มีการโฆษณาชวนเชื่อว่ามีสาขาให้บริการหลายแห่ง และสามารถรับสร้างบ้านได้ทั่วประเทศ ทั้งที่จริงแล้ว สำนักงานสาขาที่กล่าวอ้างไม่มีอยู่จริง ที่ผ่านมามีผู้บริโภค ซัปพลายเออร์ และผู้รับเหมาช่วงถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อจำนวนไม่น้อย โดยปัญหาที่พบบ่อยคือ มีการเบิกเงินจากเจ้าของบ้านไปแล้วบางส่วน แล้วเบี้ยวไม่จ่ายผู้รับเหมาช่วง จนเป็นเหตุให้มีการหยุดงาน และทิ้งงาน
“เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. จึงได้วางแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหามิให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนอีก โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับมาตรา ๓ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญา และลักษณะของสัญญา พ.ศ.๒๕๔๒ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาออกประกาศ “ให้ธุรกิจการรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา”
อย่างไรก็ดี สมาคมฯ มองว่า การยกร่างสัญญาฯ ฉบับดังกล่าว ยังมีประเด็น หรือสาระสำคัญที่ขัดต่อ พ.ร.บ.วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้างฉบับอื่นๆ ซึ่งทาง สคบ.ควรจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ หรือผู้อยู่ในวิชาชีพที่มีส่วนได้ส่วนเสียจนแน่ใจเสียก่อนว่า ประกาศที่จะออกมาให้มีผลบังคับใช้นั้นสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.วิชาชีพฉบับอื่นๆ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการน้ำดี”
นายสิทธิพร นายกสมาคมฯ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เห็นด้วยที่หน่วยงานของรัฐ ทั้ง สคบ.หรือหน่วยงานอื่นๆ จะหาทางป้องกันมิให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการที่คดโกงหรือเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาในธุรกิจรับสร้างบ้านนี้ แต่การ “ให้ธุรกิจรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา” นั้นคงไม่ช่วยป้องกัน หรือแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้ตรงประเด็นนัก เพราะเป็นการช่วยเหลือที่ปลายเหตุ หากมีสิทธิเสนอแนวทางก็เห็นว่า ควรประกาศให้ธุรกิจรับจ้างฯ นี้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ โดยมีข้อกำหนดที่ผู้จะเข้ามาในธุรกิจนี้ต้องปฏิบัติอย่างชัดเจน เช่น ทุนจดทะเบียน หลักแหล่ง หรือที่ตั้งสำนักงานที่ชัดเจน การขอใบอนุญาตประกอบอาชีพกับหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่เป็นตัวแทนของรัฐ ลิขสิทธิ์การค้า หรือแบบบ้านของตัวเอง ฯลฯ เป็นต้น
“ธุรกิจนี้คล้ายคลึงกับธุรกิจประกัน ที่ผู้บริโภคจ่ายเงินไปก่อนแล้ว แต่ได้แค่เพียงกระดาษ หรือแบบบ้าน หรือแค่ความฝันเท่านั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องไว้วางใจได้ และมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมส่วนรวม มิใช่ใครจะเข้ามาทำธุรกิจนี้ก็เข้ามาได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในปัจจุบันแม้แต่อาชีพขับรถแท็กซี่ หรือหมอนวดแผนโบราณ ก็ยังมีหน่วยงานกำกับดูแลกันเอง และขึ้นทะเบียนไว้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามา และทำความเสียหายแก่ชื่อเสียงของภาพรวมธุรกิจนั้นๆ”