หุ้นไทยปิดบวก 12.08 จุด อยู่ที่ระดับ 1,463.98 จุด พบ BAY มูลค่าซื้อขายพุ่งเป็นอันดับหนึ่ง ภาพรวมนักลงทุนคลายความกังวล QE อีกทั้งได้แรงซื้อจากพอร์ต บล. และต่างชาติหนุน โบรกฯ ให้แนวต้านสำคัญ 1,480 จุด ที่อาจเห็นแรงขายทำกำไร แนะจับตาตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศ แรงซื้อเก็งกำไรไตรมาส 2 และทิศทางการเมือง ส่วนทองคำไตรมาส 3 ยังเป็นขาลง
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (2 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 1,463.98 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.08 จุด หรือ 0.83% มูลค่าการซื้อขาย 43,957.83 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1,475.08 จุด และลดลงต่ำสุดที่ 1,452.77 จุด ภาพรวมดัชนีหลักทรัพย์ ได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อของบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ดัชนีฟื้นตัวต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนกลับมาปิดบวก หลังจากที่ปรับฐานมาหลายวัน
หลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้น 411 หลักทรัพย์ ลดลง 284 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 161 หลักทรัพย์ โดยการซื้อขายสุทธิแยกตามกลุ่มนักลงทุนพบว่า บัญชีบริษัทหลักหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสุทธิ 1,088.68 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 618.45 ล้านบาท ขณะที่สถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 535.99 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไป ขายสุทธิ 1,171.13 ล้านบาท
ขณะที่หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ BAY ปิดที่ 37.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 4.23% มูลค่าการซื้อขาย 3,164,916 ล้านบาท INTUCH ปิดที่ 87.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,738,57 ล้านบาท KBANK ปิดที่ 189.50 บาท ลดลง -1.50 บาท หรือ -0.79% มูลค่าการซื้อขาย 2,196,694 ล้านบาท ADVANC ปิดที่ 290.00 บาท เพิ่มขึ้น 8.00 บาท หรือ 2.84% มูลค่าการซื้อขาย 2,130,899 ล้านบาท และ KTB ปิดที่ 20.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 2.46% มูลค่าการซื้อขาย 1,991,541 ล้านบาท
นางจิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า หุ้นไทยยังคงอยู่ในสภาวะผันผวนต่อเนื่อง จากที่เปิดตลาดภาคเช้าปรับบวกขึ้นกว่ามา 20 จุด และปรับตัวลดลงมา ก่อนดีดตัวขึ้นไปใหม่จนปิดตลาดบวก 12 จุด โดยรวมดัชนีผันผวนอยู่ในกรอบ 1,450 จุด และเมื่อดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นไปถึง 1,480 จุด ก็จะเจอแรงขายทำกำไรทางเทคนิคออกมา ส่วนหนึ่งมาจากตลาดหุ้นไทยที่เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามา และผ่านช่วงที่มีแรงขายหนักๆ จนปรับฐานลงมาอยู่ในช่วง 1,350-1,400 และเป็นช่วงที่ค่า P/E ถูกมาก
ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ภาคการจ้างงานในตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมา ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะกำหนดว่าจะคงมาตรการ QE ไว้หรือจะยกเลิก ขณะเดียวกัน กระแสข่าวลือของการปรับลด GDP ของ โกลด์แมน แซคส์ ที่ประกาศออกมานั้นอาจจะไม่กระทบต่อตลาดหุ้นไทยเท่าไหร่นัก เพราะก่อนหน้านี้ สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ได้ประกาศออกมาในทิศทางเดียวกัน และตลาดหุ้นไทยเองก็ผ่านวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายนั้นมาแล้ว
ขณะเดียวกัน ในส่วนความกังวลภาคธุรกิจของจีนที่อาจจะหลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะกระทบต่อภาคธุรกิจของไทยนั้น ผู้ว่าการธนาคารของประเทศจีนได้ประกาศออกมาแล้วว่า เป็นเพียงระยะสั้นๆ ชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) ดัชนีอาจจะมีแนวโน้มกลับมาพักฐานอีกครั้งหลังจากที่มีแรงซื้อบวกมาหลายวัน และอาจจะมีโอกาสปิดในแดนลบ แต่ไม่มากนัก โดยแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,480 จุด สำหรับหุ้นกลุ่มที่ยังน่าลงทุนได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มไอซีที ซึ่งราคาปรับตัวลงมามาก ส่วนจุดต่ำสุด คาดไม่เหวี่ยงแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา แนะจับตาประชุมเฟดรอบหน้า ทิศทางการเมือง และกลุ่มสถาบัน
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยแนวโน้มในช่วงไตรมาส 3 น่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบ และไม่เหวี่ยงแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ประเมินแนวรับสำคัญที่ 1,427-1,428 จุด แต่ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทิศทางการเมืองในประเทศ และการซื้อขายของนักลงทุนสถาบัน ดังนั้น นักลงทุนต้องให้ระวังแรงขายทำกำไรระยะสั้นด้วย
“ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากความกังวลเกี่ยวกับกระแสเงินทุนไหลออกลดลง ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และต่างชาติซื้อสุทธิติดต่อกัน ประกอบกับใกล้เข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/56 ของบริษัทจดทะเบียน ทำให้มีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามา โดยรวมเราคาดว่าวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.)ดัชนียังแกว่งตัวไซด์เวย์ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป และการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในปลายสัปดาห์นี้แนวต้าน 1,475 จุด แนวรับ 1,447 จุด”
แม่ทองคำสุกย้ำ ทองคำ Q3 ยังขาลง
ด้านนายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก กล่าวว่า ราคาทองไตรมาส 3 ยังเป็นขาลง หลังตลาดยังกังวลเฟดเลิก QE ทำให้มีโอกาสแกว่งตัวลงตามเทรนด์หลัก แต่อย่างไรก็ดี กรอบการปรับตัวลดลงเริ่มจำกัดลง ซึ่งมองว่าแนวรับใหญ่จะอยู่ที่ระดับ 1,150 หรือ 1,100 ดอลลาร์/ออนซ์
โดยในช่วงเดือน ส.ค. แนะนำให้นักลงทุนจับตาความต้องการทองคำของประเทศอินเดียในเทศกาลแต่งงานประกอบกัน ซึ่งในช่วงดังกล่าวของทุกๆ ปี ราคาทองคำมีโอกาสผันผวนแรง แต่มองว่าสำหรับปีนี้ประเด็นดังกล่าวอาจไม่เป็นปัจจัยบวกกระตุ้นราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นได้ เพราะนักลงทุนกังวลเรื่องมาตรการ QE ชะลอตัวมากกว่า
ส่วนทิศทางราคาทองคำในช่วงปลายปีคาดว่าจะมีจุดต่ำสุดประมาณ 1,200-1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ ภายใต้เงื่อนไขเฟดแค่ชะลอมาตรการ QE ลงในช่วงปลายปี แต่ถ้าหากเฟดยุติ QE มีโอกาสกดดันราคาทองร่วงแรงซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2557