กสิกรฯ จับมือ สสว. ออกโครงการเอสเอ็มอีไม่หวั่นค่าแรง ลดดอกเบี้ย 6% แบ่ง สสว.จ่าย 3% กสิกรฯ ให้อีก 3% สำหรับลูกค้า 700 รายแรก ระบุช่วยเอสเอ็มอีใน 12 กลุ่มธุรกิจ ใน 51 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เตือนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัว หลังยอดใช้จ่ายภายในประเทศชะลอ
นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ออกโครงการ SME ไม่หวั่นค่าแรง ลดดอกเบี้ย 6% เพื่อช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระแก่เอสเอ็มอีจากปัญหาเรื่องต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น
โดย สสว. ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยการชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ของวงเงินสินเชื่อเป็นระยะเวลา 1 ปี มีวงเงินกู้ยืมไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป มีวงเงินงบประมาณดำเนินการ จำนวน 193 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 6,300 ราย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อโครงการนี้จากธนาคารกสิกรไทย จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 3% ทันทีเมื่อได้รับการอนุมัติ และสามารถเลือกรูปแบบการผ่อนชำระแบบปลอดเงินต้น 3 เดือน (Grace Period 3 เดือน) ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษจากธนาคารกสิกรไทยเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ สำหรับลูกค้าเดิมของธนาคาร 700 ท่านแรก ที่ขอสินเขื่อในโครงการนี้ จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยสูงถึง 6% โดยจะเป็นส่วนลดอัตราดอกเบี้ยจาก สสว. 3% และธนาคารกสิกรไทย ให้ส่วนลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 3%
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวม 51 จังหวัด และอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้แรงงานสูง 12 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านขายอาหาร ธุรกิจผลิตไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ และไม้ก๊อก ธุรกิจการก่อสร้าง ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ธุรกิจการขายปลีก ธุรกิจโรงแรมและที่พักชั่วคราว ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจการบำรุงรักษาการซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ การขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ และธุรกิจการผลิตเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์และอัญมณีเครื่องประดับ
เตือนปรับตัวลดใช้จ่ายชะลอ
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ธุรกิจเอสเอ็มอีก็ยังเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยต่างประเทศที่ภาคการส่งออกยังชะลอตัว และปัจจัยภายในประเทศที่ภาคการบริโภคใช้จ่ายเริ่มชะลอตัวลง แต่เชื่อว่าหากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐออกมาก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
“ในอีก 2 ปีข้างหน้า AEC ก็จะเกิด ขณะที่ปัจจุบันเอง สหรัฐฯ กับยุโรปยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนนัก ส่วนปัจจัยในประเทศการใช้จ่ายก็ชะลอตัวลง ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมปรับตัวนั้นจะต้องเป็นแนวทางที่จะเพิ่มศักยภาพของตนเอง หานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความแตกต่าง และบริหารจัดการด้านต้นทุนให้ลดลง อย่าไปหลงอยู่กับตัวเลขเมื่อ 2 ปีแล้ว เพราะมีปัจจัยเรื่องน้ำท่วม และอื่นๆ เข้ามาชั่วคราว”