xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ทุ่ม 193 ล้านบาทช่วยแบกดอกเบี้ย บรรเทา SMEs อ่วมพิษ 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
สสว.ควักเงิน 193 ล้านบาทช่วยชดเชยภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 ให้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรง 300 บาท แจงดำเนินการผ่านสถาบันการเงิน 8 แห่ง วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลาอุ้ม 1 ปี โดยมุ่งเอสเอ็มอีในพื้นที่ประสบปัญหารุนแรงทางภาคเหนือ อีสาน และใต้ใน 12 กลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น คาดช่วยได้กว่า 6,300 ราย

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทที่ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (สสว.) ได้หาทางช่วยเหลือ โดยได้ทำโครงการสนับสนุนดอกเบี้ยต่ำแก่เอสเอ็มอี โดยทาง สสว.จะเข้ามาสนับสนุนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ของวงเงินสินเชื่อ ระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันทำสัญญากู้ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นให้สามารถปรับตัวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ในระยะเวลา 1 ปี

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว สสว.ทำร่วมกับสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีวงเงินสนับสนุนในโครงการจำนวน 193 ล้านบาท คาดจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าโครงการประมาณ 6,300 ราย และหากมีเอสเอ็มอีต้องการสูงกว่าวงเงินนี้รับปากจะไปหารือรัฐบาล เพื่อเพิ่มวงเงินให้อีก

ด้านนายชาวัลย์ สวัสดิ์-ชูโต รักษาการผู้อำนวยการ สสว. กล่าวเสริมว่า กลุ่มเอสเอ็มอีเป้าหมายที่จะได้รับการพิจารณาเข้าโครงการนี้จะมุ่งไปยังกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทั้งภาคการผลิต ภาคค้าปลีกส่ง และภาคบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการปรับค่าแรงมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ อีสาน และใต้ รวม 51 จังหวัด จำนวน 12 กลุ่มธุรกิจ คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ไม้ ธุรกิจก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมและที่พักชั่วคราว ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจบำรุงรักษา ซ่อมแซมเครื่องจักร และจักรยานยนต์ ขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ ธุรกิจผลิตเครื่องเรือน ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และอัญมณีเครื่องประดับ

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกนั้นจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผู้ประกอบการจะได้การพิจารณาพิเศษในส่วนความสามารถในการชำระเงินคืน นอกจากนั้น ผู้ประกอบการที่เข้าโครงการจะไม่ถูกตรวจสอบย้อนหลังเรื่องของภาษี ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัญหาทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากไม่กล้าเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น