xs
xsm
sm
md
lg

ตอกฝาโลง “พาณิชย์” ตายคาบัญชีจำนำข้าว “ธีระชัย” เผย “บุญทรง” แถลง...ฟังแล้วลมจับ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธีระชัย” อดีต รมว.คลัง ลมแทบจับหลังฟัง “บุญทรง-ณัฐวุฒิ” แถลงจำนำข้าว ยอมรับรู้สึกผิดหวัง 2 บิ๊กอ้างไม่สามารถคำนวณกำไรขาดทุนได้ เพราะต้องขายข้าวให้หมดก่อน คงต้องรอไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ชี้ “พาณิชย์” มีบทบาทกำกับนักบัญชี แต่กลับทำผิดหลักเสียเอง พร้อมถามย้อนให้เอกชนรอปิดบัญชีก่อนเสียภาษีบ้างได้หรือไม่ พร้อมสอนมวย 6 ข้อ ปิดบัญชีจำนำข้าว

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการแถลงชี้แจงผลการดำเนินงานในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยยอมรับว่า ผิดหวังกับการชี้แจงในครั้งนี้ โดยเฉพาะที่ระบุว่า ยังไม่สามารถคำนวณกำไรขาดทุนได้ เพราะต้องรอให้ขายข้าวหมดก่อนจึงยังขอไม่ปิดบัญชี ซึ่งถือว่ากระทรวงพาณิชย์ที่กำกับดูแลนักบัญชีทั่วประเทศผิดหลักการบัญชีเสียเอง

นอกจากนี้ นายธีระชัย ยังแนะนำแนวทางการคำนวณบัญชีจำนำข้าวออกเป็น 6 ข้อ และขอให้เร่งปิดบัญชี เพื่อชี้แจงให้ประชาชนผู้เสียภาษีได้รับทราบความเสียหาย พร้อมระบุนับตัวเลขกลมๆ ขาดทุน 2 แสนล้านบาท ภาระจะตกกับผู้เสียภาษีทั้ง 5 ล้านคนอยู่ที่คนละ 4 หมื่นบาทที่ต้องแบกรับไว้

“เมื่อวานนี้ รัฐมนตรีพาณิชย์แถลงว่า ยังไม่สามารถคำนวนกำไรขาดทุนจำนำข้าวได้ เพราะต้องรอให้ขายข้าวจนหมดเสียก่อน เฮ้อ!!! ฟังแล้วลมจับ สงสัยจะต้องรอไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเสียแล้ว

กระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่กำกับดูแลนักบัญชีทั่วประเทศ แต่กลับไม่ปฏิบัติตามหลักการบัญชีเสียเอง เป็นที่น่าละอายมากนะครับ

ถ้าบริษัทธุรกิจเอกชนขอใช้หลักการนี้บ้าง จะได้หรือไม่ กรณีบริษัทซื้อสินค้ามาล็อตใหญ่ ขายไปเพียงบางส่วน ที่เหลือยังค้างอยู่ในสต๊อก จะขออ้างว่า เนื่องจากยังมีสินค้าที่ขายไม่หมดก็เลยขอยังไม่ปิดบัญชีประจำปี

ธุรกิจเอกชนจะขอทำเหมือนกระทรวงพาณิชย์ ได้หรือไม่ครับ

ข้าราชการกระทรวงการคลัง ควรจะชี้แนะ หรือประท้วงพฤติกรรมของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์นะครับ เพราะหากบริษัทเอกชนต่างหันใช้หลักการเดียวกันนี้ บริษัทจะไม่มีการปิดบัญชีกำไรขาดทุน แล้วกระทรวงการคลังจะเก็บภาษีประจำปีกันอย่างไรเล่าครับ

ผมก็บังเอิญเคยเรียนวิชาสอบบัญชีที่ประเทศอังกฤษ จึงขออธิบายหลักวิธีทางบัญชีไว้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจนะครับ

ก.ทุกองค์กรต้องมีการปิดบัญชีเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเป็นทุกเดือน หรือทุกสามเดือน ทุกหกเดือน หรือทุกสิบสองเดือนก็ได้ แต่โดยทั่วไปต้องไม่เกินรอบสิบสองเดือน

ต่อไปนี้ สมมติต้องการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 (เพื่อให้ตรงกับของคณะกรรมการปิดบัญชี) ก็ให้หาข้อมูลสามบรรทัดตามนี้

ข.จนถึงวันที่ดังกล่าว รัฐบาลใช้เงินไปในการรับจำนำสะสมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ตั้งไว้เป็นบรรทัดแรก

ค.จนถึงวันที่ดังกล่าว รัฐบาลขายข้าวไปทั้งสิ้นได้เงินเท่าใดก็ใส่เป็นบรรทัดที่สอง

ง.ณ วันที่ดังกล่าว มีการตรวจนับสต๊อกโดยบุคคลที่เชื่อถือได้หรือยัง เขาพบว่ามีข้าวอยู่จริงๆ เท่าใด ให้ใช้เฉพาะตัวเลขที่นับสต๊อกเหลืออยู่จริงๆ

จ.สต๊อกข้าวที่มีอยู่ ณ วันที่ดังกล่าว มีคุณสมบัติ และสภาพเฉลี่ยอย่างไร ให้ตีตามราคาตลาดในวันนั้น โดยลดทอนราคาตลาดลงตามสภาพเฉลี่ย เป็นบรรทัดที่สาม

ช.กำไรขาดทุน ก็คือคำนวณโดยเอาบรรทัดแรก ลบด้วย บรรทัดที่สอง และบรรทัดที่สาม เท่านั้นเอง

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับ ว่าถ้าจะตั้งใจทำกันจริงๆ แล้ว จะไม่ยากเย็นอะไรเลย

วันนี้มีผู้สื่อข่าวถามผมว่า กรณีนี้จะเป็นต้นเหตุให้รัฐบาลพังหรือไม่ ผมตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่ชำนาญด้านการเมือง

แต่ผมอยากจะตอบในที่นี้ ถึงแม้ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลจะพังหรือไม่ แต่ที่ผมทราบแน่ๆ ก็คือ ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีพวกเราพังกันหมดแล้วครับ

ถ้าใช้ตัวเลขขาดทุนแบบกลมๆ 2 แสนล้าน เฉลี่ยต่อคนสำหรับคนไทยทั้ง 67 ล้านคน ก็เป็นเงินคนละเกือบ 3 พันบาทแล้วครับ นี่นับหัวเฉลี่ยลูกเด็กเล็กแดงไปด้วยทุกๆ คน

แต่ผมคิดว่าคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างกินเงินเดือนนั้น คงมีไม่ถึง 5 ล้านคน ถ้าใช้ตัวเลข 5 ล้านคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นตัวหาร ภาระจะตกคนละ 4 หมื่นบาททีเดียวครับ

ถ้าขาดทุนบานออกไปเป็น 3 แสนล้าน ภาระก็จะเพิ่มเป็นคนละ 6 หมื่นบาท

รัฐมนตรีคลัง กับรัฐมนตรีพาณิชย์ ร่วมกันสร้างภาระให้แก่ประชาชนมากขนาดนี้ ก็ควรจะปิดบัญชีให้เขาดูกันหน่อยสิครับ ประชาชนเขาจะได้รู้สึกว่ามันคุ้มค่ากับเลือดที่ไหลออกไปกันหน่อย”


กำลังโหลดความคิดเห็น