xs
xsm
sm
md
lg

ซีเค พาวเวอร์ ลุ้นเทรดขายหุ้น มิ.ย.นี้ จ่อลงทุนโรงไฟฟ้าอีก 2 พันเมกะวัตต์ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ซีเค พาเวอร์” เล็งขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มในอนาคตอีก 2 พันเมกะวัตต์ โดยเน้น SPP 8 โรง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว นอกเหนือจากลงทุนในโครงการไซยะบุรี-น้ำบาก และบางปะอิน โคเจนฯ เฟส 2 ดันกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มคิดตามสัดส่วนการถือหุ้น 2.6 พันเมกะวัตต์ ใน 10 ปีข้างหน้า มั่นใจเทรดซื้อขายหุ้นในตลาดฯ ปลาย มิ.ย.นี้

นางสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ช.การช่าง เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งในไทย และ สปป.ลาว เพิ่มเติม คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมแบบโคเจนเนอเรชันในไทยจำนวน 8 โครงการๆ ละ 120 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวเพิ่มอีกหลายโครงการรวม 1,000 เมกะวัตต์

หากโครงการดังกล่าวสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 4,280 เมกะวัตต์ หลังปี 2566 หรือคิดเมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 2,598 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 755 เมกะวัตต์ คิดเป็นเมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 347 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชันจะคำนึงถึงแนวท่อก๊าซฯ โดยเน้นตั้งโรงไฟฟ้าในนิคมฯ และใกล้นิคมฯ ซึ่งได้มีการพิจารณาแล้วจะตั้งอยู่ในภาคกลาง 3 แห่งๆ ละ 2 เฟส และภาคอีสาน 1แห่งๆ ละ 2 เฟส โดยใช้เงินลงทุนเฟสละ 5 พันล้านบาท นับเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้า SPP รอบใหม่ในอนาคต โดยจะขายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟน.หรือ กฟผ.ส่วนใหญ่ ที่เหลือขายไฟฟ้า และไอน้ำเข้านิคมฯ

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ลาวนั้น เชื่อว่าลาวมีศักยภาพในการพัฒนาโรงไฟฟ้าได้ถึง 2.1 หมื่นเมกะวัตต์ โดยมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแล้วเสร็จ และจ่ายไฟเข้าระบบแล้ว 2.5 พันเมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4.9 พันเมกะวัตต์ ยังเหลือโครงการที่เตรียมพัฒนาอีก 1.3 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ สนใจเข้าร่วมทุนในโครงการที่เตรียมพัฒนาดังกล่าว

นอกจากนี้ ซีเค พาเวอร์ ยังสนใจที่จะเข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่พม่า จากการศึกษาพบว่า พม่ามีศักยภาพที่พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้ถึง 4.6 หมื่นเมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ สนใจที่เข้าไปร่วมพัฒนาในโครงการที่อยู่ไม่ห่างจากชายแดนไทย แต่ทั้งนี้คงต้องศึกษากฎระเบียบเงื่อนไขการลงทุนให้รอบคอบ รวมทั้งยังสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล และชีวภาพในไทยด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่มีความหลากหลาย

นางสุภามาส กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตามแผนงานที่วางไว้อีก 3 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1.5 พันเมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชัน เฟส 2 กำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) กับ กฟผ.แล้ว คาดว่าจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ มิ.ย.2560 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำบาก กำลังผลิต 160 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปสัญญาซื้อขายไฟกับรัฐบาลลาวได้เร็วๆ นี้ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทแม่ คือ บมจ.ช.การช่าง ถือหุ้นอยู่ 30% โดย ช.การช่าง จะทยอยขายหุ้นทั้งหมดในมือให้แก่ซีเค พาเวอร์ หลังจากโครงการใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งโครงการนี้จะจ่ายไฟเข้าระบบได้ปี 2562

นางสุภามาส กล่าวถึงความคืบหน้าการนำบริษัท ซีเค พาวเวอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทฯคาดว่าจะเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในปลายเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะทำ book build และกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ได้ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. ซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัท กรุงไทยแอดไวเซอรี่ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ส่วนผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ได้แก่ บล.เอเซียพลัส บล.ไทยพาณิชย์ บล.บัวหลวง และ บล.เคที ซีมิโก้

ทั้งนี้ บริษัทฯ เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 220 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 180 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญเดิม 40 ล้านหุ้น มูลค่าตราไว้หุ้นละ 5 บาท เน้นเสนอขายในประเทศ เพราะจำนวนหุ้นเสนอขายน้อยทำให้นักลงทุนสถาบันให้ความสนใจหุ้นดังกล่าว สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำมาชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการลงทุนโครงการใหม่ในอนาคต

ปัจจุบัน บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.98 เท่า คาดว่าหลังระดมทุน IPO จะต่ำลง อย่างไรก็ตาม นโยบายบริษัทจะไม่ให้เกิน 2.5 เท่า ขณะที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2556 บริษัทฯ มีรายได้รวมกว่า 1.2 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทฯ 92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 33 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทรับรู้รายได้จากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 กำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ ที่ สปป.ลาว โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ปักธงชัย กำลังผลิต 8 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นครราชสีมาโซลาร์ 6 เมกะวัตต์ และในครึ่งปีหลังนี้จะรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นอีกจากโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชัน เฟส 1 ที่มีกำลังการผลิต 117.5 เมกะวัตต์ ที่เริ่มจ่ายภายในเดือน มิ.ย.นี้

ปัจจุบัน ซีเค พาวเวอร์ ถือหุ้นใน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด (SEAN) 56% ซึ่ง SEAN เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ-น้ำงึม 2 และลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเข้าถือหุ้นใน บริษัท บางเขนชัย จำกัด สัดส่วน 100% ขนาด 8 เมกะวัตต์ บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ถือหุ้น 30% มีกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ และ บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ถือหุ้น 30% มีกำลังผลิตขนาด 8 เมกะวัตต์ และถือหุ้นในบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชัน จำกัด สัดส่วน 65%

คลิกเพื่อชมคลิป :


กำลังโหลดความคิดเห็น