xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพีเอฟ” เปิดแผนลุยซื้อกิจการในต่างประเทศ เผยกลยุทธ์ต้องเลือกจังหวะที่เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ซีพีเอฟ” เปิดแผนลุยซื้อกิจการในต่างประเทศ เน้นกิจการที่เกิดการประสานประโยชน์ เป็นของถูกต้อง และราคาไม่แพง ส่วนกรณียังไม่สามารถซื้อกิจการ “สมิท ฟิลด์” เพราะเวลากระชั้นชิดเกินไป เผยยังมีอีกหลายบริษัท ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ให้เลือกชอป ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน มั่นใจโอกาสยังมีต่อเนื่อง

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ จำกัด (มหาชน) (CPF) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมองหาโอกาสในการซื้อกิจการในต่างประเทศต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่สามารถซื้อกิจการของบริษัท สมิท ฟิลด์ (Smith Field) ผู้ผลิต และจำหน่ายเนื้อหมูรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากมีเวลาในการดำเนินการค่อนข้างกระชั้นชิด ซึ่งขณะนี้มีหลายบริษัทที่เข้ามาเสนอให้บริษัทเข้าไปซื้อกิจการ

นายอดิเรก มองว่าโอกาสในการซื้อกิจการยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรปที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการขายกิจการ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในทั้ง 2 ภูมิภาคอาจจะมีการฟื้นตัวเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้บริษัทต้องเร่งตัดสินใจ ส่วนสำคัญคือเมื่อซื้อมาแล้วเกิดการประสานประโยชน์ เป็นของถูกต้อง และราคาถูกหรือไม่

ส่วนกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุน หรือซีวีดี (CVD) ในการนำเข้ากุ้งแช่แข็งจากไทยในอัตราเบื้องต้น 2.09% นั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทย เนื่องจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บต่ำกว่าประเทศอื่นที่ถูกเรียกเก็บตั้งแต่ 6-10% ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ของบริษัทมีไม่มาก เพียง 2-3% เท่านั้น จากรายได้รวมทั้งหมด หรือคิดเป็นเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีจากไทยที่น้อยกว่าประเทศอื่นยังช่วยให้ผู้ส่งออกไทยได้เปรียบคู่แข่งขัน อย่างไรก็ตาม คงไม่ส่งผลให้มีการนำเข้ากุ้งจากไทยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันไทยยังมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบกุ้งออกมาน้อย จากโรคระบาดอีเอ็มเอส (EMS) ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายแล้ว โดยกรมประมงจะมีการแถลงข่าว และนำสื่อมวลชนไปตรวจสถานการณ์เร็วๆ นี้

ทั้งนี้ มั่นใจว่าผลประกอบการของบริษัทคงจะฟื้นตัวตามการคลี่คลายของสถานการณ์โรคระบาด คาดว่าน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3ไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มั่นใจว่าภาพรวมทั้งปีจะดีกว่าปีก่อนหน้าหรือไม่

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า ประเมินว่าการประกาศภาษีซีวีดีของสหรัฐอเมริกา ไม่ได้สูงมาก และใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จึงเชื่อว่าผู้ประกอบการไทยได้เปรียบในเชิงการแข่งขันกับคู่แข่งต่างประเทศ เห็นได้จากอัตราภาษีนำเข้าของคู่แข่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูงกว่าไทย นำโดยมาเลเซีย ถูกเรียกเก็บภาษีถึง 62.74% อินเดีย 10.87% และเวียดนาม 6.07% มีเพียงอินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ที่ไม่ถูกเรียกเก็บภาษี ภาพรวมจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี เพราะมีรายได้จากการส่งออกกุ้งทั้งหมด และมีตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ 10%

ขณะที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ มีสัดส่วนรายได้ส่งออกกุ้งจากไทยไปยังสหรัฐฯ ราว 6% ของรายได้รวม ซึ่งต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วน ซีพีเอฟ เน้นส่งออกสินค้ากุ้งปรุงสุกพร้อมรับประทานทำให้อาจได้รับผลลบจากประเด็นดังกล่าวน้อยมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น