เปิดมาตรการกรอบรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ 22 มาตรการ ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเงิน 7 มาตรการ การคลัง 7 มาตรการ และเฉพาะด้าน 8 มาตรการ พร้อมวาดฝันผลักดัน ศก.ปี 56 เติบโตได้ 5%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28 พ.ค.) มีมติเห็นชอบกรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 2556 ประกอบด้วย มาตรการด้านการเงิน 7 มาตรการ มาตรการด้านการคลัง 7 มาตรการ และมาตรการเฉพาะด้าน 8 มาตรการ ขณะที่การดำเนินการมาตรการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ 22 มาตรการ รัฐบาลตั้งเป้าหมายทำให้เศรษฐกิจปี 2556 ขยายตัว 5%
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า กรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เป็นมาตรการที่บูรณาการทำงานด้านเศรษฐกิจในภาพใหญ่ เพื่อทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายขยายตัวของจีดีพี ที่ 5% การส่งออกขยายตัวที่ 9%
สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ได้แก่ มาตรการการเงิน ที่หน่วยงานรัฐต้องประสานการทำงานกับ ธปท. คือ 1.การซื้อขายเงินตราต่างประเทศในอัตราแลกเปลี่ยน 2.การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 3.มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคส่วนต่างๆ
4.พิจารณามาตรการจำกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างระมัดระวังเมื่อจำเป็น 5.การบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งทุนสำรองมีจำนวนที่สูงมากจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Funds) 6.การช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท และ 7.การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน
มาตรการการคลัง ที่มีกระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลัก 1.การกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2.ดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง 2 ล้านล้านบาท 3.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจชำระหนี้ หรือปรับโครงโครงสร้างหนี้เงินตราต่างประเทศ
4.ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษี 5.สนับสนุนด้านสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 6.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศในธุรกิจที่เหมาะสม และ 7.การส่งเสริมการออม และการประกันภัย เช่น การเร่งรัดโครงการประกันภัยพืชผล
ส่วนมาตรการเฉพาะด้าน ให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการ คือ 1.ยกระดับรายได้เกษตร เช่น การรับจำนำข้าว 22 ล้านตัน บัตรเครดิตเกษตรกร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) 2.เพิ่มสัดส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็น 40% ของจีดีพี (กระทรวงการคลัง) 3.ขยายการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (กระทรวงอุตสาหกรรม)
4.เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเป็น 24.7 ล้านคนในปี 2556 และเพิ่มรายได้เป็น 2 เท่าในปี 2558 (กระทรวงการท่องเที่ยวฯ) 5.ตั้งเป้าหมายการขยายตัวการส่งออกในปี 2556 ที่อัตรา 9% (กระทรวงพาณิชย์) 6.มีแหล่งพลังงานที่มั่นคงในราคาเหมาะสม 7.ยกระดับเทคโนโลยีและการเข้าถึงบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ 8.สร้างรายได้และกำลังซื้อ ลดต้นทุนประกอบอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย (กระทรวงการคลัง)
นายอาคม ระบุว่า มาตรการเพิ่มปริมาณเงิน หรือคิวอีของประเทศยักษ์ใหญ่ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยุโรป คาดว่าจะทำให้ทั้งปี 2556 มีปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 5.86 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปริมาณเงินที่อัดฉีดในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551