รมว.เกษตรฯ-เลขาฯสภาพัฒน์ฯ-ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ” แจงโครงการเกษตรโซนนิ่ง ช่วยเกษตรกรให้มีรายได้ดี ทำให้การเกษตรของไทยยั่งยืน วางเป้า 5 ปีพัฒนาเต็มรูปแบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 มิ.ย.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมกันชี้แจงการทำเกษตรโซนนิ่ง ผ่านรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน”
ดร.อาคม กล่าวถึงเหตุผลการทำเกษตรโซนนิ่งว่า 1.จัดพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ประมง 2. จัดรูปที่ดินให้มีขนาดเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชแต่ละประเภทให้ได้ผลผลิตให้มากที่สุด 3. โครงสร้างพื้นฐาน น้ำ คลอง ซอย โลจิสติกส์ต่างๆ ทต้องรับผลผลิตออกมาได้ และ 4.บริหารผลผลิตให้ราคาไม่ตกต่ำและไม่สูงเกินไป มีเสถียรภาพ
ดร.อาคม กล่าวว่า มีขั้นตอนอยู่ 3-4 ขั้นตอนคือ พื้นที่ประเทศไทยต้องใช้พื้นที่ฉบับเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่กระทรวงเกษตรฯ เพราะมีเรื่องของโรงงานแปรรูปต่างๆ นอกจากนี้ดูว่าการปลูกพืชเหมาะสมในพื้นที่หรือไม่อย่างไร และกระเกษตรฯ ต้องไปพูดคุยกับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือรูปแบบการเพาะปลูกให้เขาเห็นด้วย และสุดท้ายการตลาด ภาครัฐต้องมั่นใจว่าผลผลิตที่ออกมาตรงกับความต้องการตลาดพอดี เพราะถ้ามากเกินไปราคาก็จะตก ถ้าผลผลิตออกมาพอดีราคาก็จะสม่ำเสมอ
สำหรับความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศมี 2 เรื่อง หนึ่งเกษตรกรได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ เช่น น้ำ การใช้คลองอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจัดสรรน้ำได้อย่างทั่วถึง สอง เรื่องรายได้มีความแน่นอนมากขึ้น ตอนนี้เราอาจพึ่งบางประเภท แต่ต่อไปจะมีสินค้าราคาสูงหลายอย่าง ยกตัวอย่าง กรณี กำแพงเพชรมีความไม่สมดุล เช่น ต้นน้ำมีโอกาส น่าจะปลูกมันสำปะหลัง แต่เราไม่ได้ปลูก ปลายน้ำมีโรงงาน เราขาดกลางน้ำ ถ้าปรับเปลี่ยนได้เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
ด้านนายยุคล กล่าวว่า อย่างที่เลขาสภาพัฒน์พูดว่าต้องมีการเตรียมการ กระทรวงเกษตรฯมี 3 เรื่อง คือ พื้นที่ ผลผลิต และคน ในส่วนของกระทรวงฯใช้ข้อมูลฐานจากกรมพัฒนาที่ดิน ตรวจสอบพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ 150 ล้านไร่ และประกาศไปแล้วว่าพื้นที่ไหนในไทยที่เหมาะสมปลูกพืช 13 ชนิด ปศุสัตว์ 5 ชนิด ตอนนี้ให้ผู้ว่าฯเป็นประธานในการดึงทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดมาบูรณาการกันร่วมกันคิดว่าทำอย่างไรให้ผลผลิตในพื้นที่ที่มีการประกาศให้ได้ผลผลิตดีที่สุด และพื้นที่ไม่เหมาะสมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้มากสุด เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างบริหารจัดการ
เช่น ข้าวมีพื้นที่ปลูก 70 ล้านไร่ มี 43 ล้านไร่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม อีกกว่า 20 ล้านไร่ ไม่เหมาะสม ดังนั้นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเราก็จะเข้าไปปรับ ส่วนที่ปลูกข้าวก็จะมีความเหมาะสมปลูกพืชอื่นได้ด้วย ก็ต้องดูว่าแรงจูงใจที่จะทำให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และนายกฯให้แนวในการทำต่อว่า ต้องมีการติดตามด้วย แต่ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเหมือนเดิม ใช้เทคโนโลยีมาช่วย ใช้แผนที่ไปกำกับ เชื่อมโยงไปถึงประกันภัยพืชผลอื่นๆ ตามมาในอนาคต
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่าในส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราทำสมาร์ทฟาร์เมอร์ไปเสริม เพื่อพัฒนาเกษตรกร ให้รู้จักคิด เอาการตลาดเป็นตัวนำ ก็มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯดำเนินการอยู่ เช่น ทำให้ข้าวที่เกษตรกรปลูกมีต้นทุนต่ำลง ก็มีการเอางานวิจัยมาศึกษา และเน้นการพูดคุยกับคนในพื้นที่
ส่วนที่เรามองภาพ เราเริ่มต้นปีนี้ นายกฯเตรียมงบประมาณไว้เพื่อปรับเปลี่ยน คิดว่าถ้าทำเต็มที่น่าจะภายใน 5 ปี เรามีความเชื่อว่าเกษตรโซนนิ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เคยถามเกษตรกรว่าเข้าใจหรือไม่ เพราะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เคยทำนาให้มาปลูกอ้อย หรือปลูกถั่ว เราก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องการเก็บ
“เรื่องเกษตรโซนนิ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลอยากช่วยพี่น้องเกษตรกรจริงๆ เชื่อมั่นว่าการจัดระบบการเกษตรจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน และทำให้การเกษตรของไทยยั่งยืน ขอความกรุณาให้พี่น้องเกษตรกรติดตามประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่ไปทำงานในพื้นที่”
ขณะที่ ดร.อานนท์ กล่าวว่า เรื่องโซนนิ่งเป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการหลายหน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงเกษตร ฯ สิ่งที่นายกฯมอบหมายคือ ต้องมีหน่วยงานกลางซึ่งตั้งขึ้นแล้ว เป็นครั้งแรกที่ตั้งหน่วยปฏิบัติเพื่อทำหน้าที่รวบรวม มีการทำแผนที่ที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมกับการปลูก เช่น พื้นที่ปลูกข้าว 70 กว่าล้านไร่ มีพื้นที่ไม่เหมาะสม 20 กว่าล้านไร่ แต่ก็เหมาะที่จะทำอย่างอื่นได้ และมีบางพื้นที่เหมาะปลูกข้าวราคาสูง เช่น ข้าวหอมมะลิ
นอกจากนี้ ก็เอาแหล่งแปรรูปมาดู ข้อมูลต่างๆ สามารถนำไปใช้ได้ในระดับพื้นที่ หลักคิดของเราคือ การทำงานในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ เรามีเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อตรวจสอบอัพเดทได้ จะเห็นได้ว่าเกษตรกรทำไปแล้วแค่ไหน มีอะไรเกิดขึ้น เราสามารถเตรียมการล่วงหน้าได้ดี ตอนนี้เทคโนโลยีที่มีอยู่มีเพียงพอแล้วแต่จะทำอย่างไรให้ข้อมูลลงไปสู่การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของสำนักงานที่จะตั้งขึ้นใหม่