ตลาดหุ้นปี 56 คึกคัก บจ. แห่ระดมทุน “หุ้นไอพีโอ” ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่มบริการ อสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง “ชนิตร” ยอมรับการที่หุ้นไทยบางตัวถูกนำไปคำนวณในดัชนี “เอ็มเอสซีไอ” ช่วยจุดประกายให้บริษัทต่างๆ สนใจเข้าระดมทุนมากขึ้น โดยล่าสุด ถูกเลือกเพิ่มเติมเข้าไปอีก 20 หลักทรัพย์ ถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้แนวโน้มบริษัทที่เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทย ผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังการประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต่างๆ ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมถึงเศรษฐกิจมีสภาพคล่องสูง รวมถึงการที่หุ้นไทยทั้งขนาดกลาง และขนาดใหญ่ถูกนำมาคำนวณในดัชนีเอ็มเอสซีไอเพิ่มขึ้นกว่า 20 หลักทรัพย์
“ขณะนี้การขอเข้าจดทะเบียนต่อ ตลท. มีจำนวนเฉลี่ย 5 บจ. ต่อเดือน ซึ่งคาดว่าในเดือน มิ.ย. จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 5 บจ. และจะมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างคงที่เช่นนี้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่มบริการ อสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง โดยขณะนี้มีบริษัทที่อยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่หุ้นไทยบางตัวถูกนำไปคำนวณในดัชนีเอ็มเอสซีไอ จึงจุดประกายให้บริษัทต่างๆ สนใจเข้าระดมทุนมากขึ้น”
นอกจากนี้ ล่าสุดมีการประกาศรายชื่อหุ้นไทยที่ใช้คำนวณดัชนีเอ็มเอสซีไอเพิ่มเติมถึง 20 หลักทรัพย์ ซึ่งมาจาก ตลท. จำนวนถึง 19 หลักทรัพย์ และเอ็มเอไอ 1 หลักทรัพย์ รวมมูลค่าตลาด 403,111 ล้านบาท (ณ วันที่ 15 พ.ค.56) และมีหลักทรัพย์ที่ถูกคัดออก 3 หลักทรัพย์ สำหรับหุ้นที่ถูกคัดออก โดยส่วนใหญ่จะเป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดเกินเกณฑ์คัดเลือกหุ้นของดัชนีเอ็มเอสซีไอ
อย่างไรก็ตาม จำนวนหลักทรัพย์ไทยที่ถูกเพิ่มเข้าคำนวณดังกล่าว นับว่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน คือ 20 หลักทรัพย์ โดยเป็นหุ้นไอพีโอ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถึง 7 หลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า หุ้นไอพีโอเมื่อเข้าจดทะเบียนแล้ว มีการบริหารจัดการที่ดี ใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเหมาะสม มีศักยภาพ และสภาพคล่องเข้าเกณฑ์คำนวณในดัชนีระดับโลกได้ ทำให้แนวโน้มจำนวนหุ้นไทยที่เข้าคำนวณเอ็มเอสซีไออาจเพิ่มขึ้น
สำหรับการเก็บข้อมูลของมูลค่าตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เปรียบเทียบก่อนและหลังที่ถูกนำเข้าไปคำนวณดัชนีเอ็มเอสซีไอ รอบเดือน พ.ย.2555 แสดงให้เห็นว่าหลักทรัพย์ที่ได้นับเข้าไปคำนวณในดัชนีจะมีมูลค่าตลาด และมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สอดคล้องกับทิศทางผลการดำเนินงาน และสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน