ธปท.เปิดพอร์ต “เอ็นพีเอ” แบงก์พาณิชย์ไตรมาสแรกปีนี้ ยอดรวมเหลือแค่ 8.5 หมื่นล้านบาท ชี้สาเหตุที่ลดลงเพราะแบงก์แห่ขายหนีตั้งสำรองหนี้ พร้อมระบุแบงก์แต่ละแห่งมีการจัดแคมเปญให้วงเงินกู้สูง และเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งไม่คิดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อจูงใจลูกค้าในการซื้อเอ็นพีเอ
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอดสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ เดือน มี.ค.2556 มียอดรวม 8.56 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเอ็นพีเอ 1.06 แสนล้านบาท ลดลง 2.09 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 19.68% นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2555 ที่มีเอ็นพีเอ 9.15 หมื่นล้านบาท ลดลง 5,835 ล้านบาท หรือลดลง 6.37%
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ยอดเอ็นพีเอของธนาคารพาณิชย์ลดลง เนื่องจากมีการขายเอ็นพีเอให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เพื่อลดภาระต้นทุนการบริหารงาน และการตั้งสำรองหนี้
ขณะเดียวกัน ธนาคารแต่ละแห่งมีการจัดแคมเปญให้วงเงินกู้สูง และเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งไม่คิดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อจูงใจลูกค้าในการซื้อเอ็นพีเอ
ธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราการลดของเอ็นพีเอมากที่สุดของไตรมาสแรกเทียบกับช่วงเดือนกันปีก่อน 5 อันดับ ได้แก่ ธนาคารทิสโก้ มีเอ็นพีเอ 104 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 65.82% รองลงมา คือ ธนาคารยูโอบี มีเอ็นพีเอ 1,912 ล้านบาท ลดลง 37% ธนาคารทหารไทย มีเอ็นพีเอ 2,020 ล้านบาท ลดลง 35.60% ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 16 ล้านบาท ลดลง 26.21% และธนาคารธนชาต 2,841 ลดลง 21.68%
อย่างไรก็ตาม หากเทียบเอ็นพีเอของธนาคารพาณิชย์ ณ เดือน มี.ค.2556 เทียบกับเดือน ธ.ค.2556 ธนาคารพาณิชย์ที่เอ็นพีเอมากสุด คือ ธนาคารทิสโก้ ลดลง 61% ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ลดลง 54% ธนาคารกรุงไทย ลดลง 17% ธนาคารธนชาต ลดลง 10% ธนาคารกรุงเทพ ลดลง 5%