xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ” โพสต์ FB ขย่ม ธปท. ไม่ฟังรัฐบาล อัดทำตัวเป็นอิสระตาม กม. รัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทักษิณ” โพสต์ FB ขย่ม ธปท.ไม่ฟังรัฐบาล อัดทำตัวเป็นอิสระตาม กม.ของ รบ.รัฐประหาร ห่วงเงินทะลักเข้าไทยปั่นฟองสบู่ ยกย่อง “โอเบะ-บีโอเจ” ทำงานสอดรับฟื้น ศก. พร้อมย้อนอดีตปี 37-38 สมัยเป็น รมต. ได้เคยเตือน ธปท. และคลัง ทุกครั้งในที่ประชุม แต่ก็ได้รับการชี้แจงแก้ตัวตลอดเวลา จนมาถึงตอนท้ายสุด ศก.พัง ในปี 40 ยอมรับ ตนเองเป็นคนชอบดูดัชนีต่างๆ และชอบตกใจล่วงหน้า ชี้สิ่งที่กังวลของประเทศก็คือ เรามีคนดี คนมีความรู้ และการศึกษาสูงมาก แต่เป็นพวกมี Knowledge แต่มี Wisdom ไม่พอ จะรู้ไม่เท่าทันโลกทุนนิยม ที่หนักกว่านั้นคือ พวก Wisdom ไม่พอดันขยันพูดอีกต่างหาก

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thaksin Shinawatra แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เงินไหลเข้าว่า ขณะนี้เงินจากต่างประเทศไหลเข้าไทยอย่างมากจนน่าวิตก มูลค่าทางตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมกันสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศแล้ว จึงกังวลว่าจะมีมาตรการใดร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่

“เป็นห่วงครับ ถ้ามองแค่ปัจจุบันกับอนาคตสั้นๆ ภายในปีเดียว ก็ไม่ต้องคิดมาก แต่ถ้าคิดยาวคิดไปล่วงหน้า 2-3 ปี อันตรายครับ” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

พร้อมยกตัวอย่าง กรณีประเทศญี่ปุ่น เมื่อวานนี้ ระกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า GDP โตถึง 3.5% นับเป็นการโตที่มากสำหรับญี่ปุ่น เพราะเศรษฐกิจแย่มานาน ค่อนข้างชัดว่า ผลการเติบโตส่วนใหญ่ก็ได้มาจากนโยบายของท่านนายกฯ อาเบะ ที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลง...กว่า 20% รวมทั้งพิมพ์ธนบัตรออกใช้มากขึ้นมาก

ที่เขาทำได้ก็เพราะธนาคารกลาง (หรือแบงก์ชาติ) ของญี่ปุ่นขึ้นตรงกับรัฐบาล เขาจึงสามารถทำยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแบบองค์รวม (Holistic Approach) โดยประธานนโยบายการเงิน (Monetary Policy) กับนโยบายการคลัง (Fiscal Policy) ได้เป็นอย่างดี แต่แน่นอนครับญี่ปุ่นยังต้องมีอีกหลายมาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจภายในแข็งแกร่งกว่านี้

ที่สำคัญโครงสร้างการบริหารประเทศของญี่ปุ่นเขาเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เขาถือว่าประชาชนมีอำนาจสูงสุด เมื่อประชาชนเลือกใครเข้ามาก็ให้โอกาสทำงานเต็มฝีมือ ถ้าทำไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือกกลับมาอีก แต่ของเรายังเป็นประชาธิปไตยแบบแค่นๆ คือไม่เต็มใจให้เป็น จึงเกิดความหวาดระแวงตัวแทนอำนาจประชาชน โดยใช้วิธีแยกอำนาจออกเป็นส่วนๆ แทนจนคุยกันไม่ได้ วางยุทธศาสตร์ร่วมกันไม่ได้ ซึ่งผลเสียก็ตกกับประเทศชาติ และประชาชน

อย่างกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยของเราก็มีกฎหมายของรัฐบาลช่วงรัฐประหารแยกตัวเองออกมา จนไม่ฟังรัฐบาล ซึ่งทำให้ดูน่าวิตกเพราะต่างคนต่างใช้นโยบายของตน มีความเชื่อของตน ตอนนี้เงินจากต่างประเทศไหลเข้าไทยอย่างมากจนน่าวิตก มูลค่าทางตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมกันโตกว่า GDP ประเทศ

จึงมีคำถามว่าเกิด Asset Pricing Bubble หรือไม่ แล้วเราจะมีมาตรการอะไรร่วมกันไหมระหว่างกระทรวงการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทย ผมเป็นห่วงครับ ถ้ามองแค่ปัจจุบันกับอนาคตสั้นๆ ภายในปีเดียว ก็ไม่ต้องคิดมาก แต่ถ้าคิดยาวคิดไปล่วงหน้า 2-3 ปี อันตรายครับ

สิ่งที่กังวลก็คือ เรามีคนดี คนมีความรู้ และการศึกษาสูงมาก แต่เป็นพวกมี Knowledge แต่มี Wisdom ไม่พอ จะรู้ไม่เท่าทันโลกทุนนิยม ที่หนักกว่านั้นคือ พวก Wisdom ไม่พอดันขยันพูดอีกต่างหาก

ประเทศไทยเรา GDP ส่วนใหญ่มาจาก Export (ส่งออก) ซึ่งมีทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร บาทแข็งขึ้น 1 บาท GDP จะหายไปประมาณ 0.7% รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายอัดฉีดเงินลงสู่รากหญ้า และเพิ่มงบลงทุนของรัฐบาล เช่น โครงการ 2 ล้านล้าน ถ้านโยบายการคลังถูกใช้เยอะเกินไปก็อันตราย เพราะฉะนั้น นโยบายการเงินต้องช่วยไม่ใช่เป็นภาระแบบนี้

ตอนผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 2537-2538 ผมก็เห็นสัญญาณไม่ดีหลายอย่าง เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตำแหน่งร่วมกับรัฐมนตรีพาณิชย์ และรัฐมนตรีคลัง

ผมได้เตือนธนาคารแห่งประเทศไทยกั บกระทรวงการคลังทุกครั้งในที่ประชุมแต่ก็ได้รับการชี้แจงแก้ตัวตลอดเวลา จนมาถึงเศรษฐกิจพังตอนปี 2540 ผมเป็นคนชอบดูดัชนีต่างๆ และชอบตกใจล่วงหน้า เหมือนที่ผู้ก่อตั้งบริษัท Intel คือนาย Andrew Grove พูดว่า During the crisis only the paranoid survive ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น