ธปท. เตรียมขอ บสย.ค้ำหนี้ “เอสเอ็มอี” แก้พิษบาทแข็ง พร้อมขายประกันความเสี่ยงค่าเงิน เคาะค่าธรรมเนียม 1.7% ยันสามารถทำได้ทันที ด้านแบงก์พาณิชย์ ยอมรับลูกค้าเอสเอ็มอีจะมีบุคลิกกล้าได้กล้าเสีย ดูกำไรเป็นหลัก ทำให้มีการซื้อประกันความเสี่ยงน้อย
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คลังและ ธปท.ตกลงให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกโครงการค้ำประกันเอสเอ็มอีที่ต้องการซื้อป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาทผันผวน
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานสนับสนุน รักษาการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ต้องการขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และรายที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินสามารถขอใช้บริการค้ำประกันได้ทั้ง 2 แบบ โดย บสย.จะคิดค่าธรรมเนียมเท่ากันในอัตรา 1.7% ของวงเงินค้ำประกัน
“โครงการนี้ทำได้ทันที หากได้รับการตอบรับดีอาจพิจารณาทำแยกออกมาเป็นโครงการพิเศษในภายหลัง” นายวัลลภกล่าว
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย คาดว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าคือ กลุ่มที่ทำธุรกิจส่งออกเป็นหลักประมาณ 20% ซึ่งกรณีเลวร้ายที่สุดลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจะได้รับความเสี่ยงจากค่าเงินบาทมีประมาณ 2% ของสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลหนี้ 9,181 ล้านบาท
นายพัชร กล่าวว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีคือ ไม่นิยมทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ไม่ว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่า หรืออ่อนค่า ลูกค้าเอสเอ็มอีจะมีบุคลิกกล้าได้กล้าเสีย ดูกำไรเป็นหลัก ทำให้ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารมีไม่ถึง 5% ที่ซื้อป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน
สำหรับธนาคารกสิกรไทย ออกผลิตภัณฑ์ K-Right Zero สามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ 100% เช่นกัน ผลิตภัณฑ์นี้เมื่อลูกค้าจองอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าแล้ว หากถึงกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนราคาตลาดดีกว่า ลูกค้าสามารถเลือกอัตราแลกเปลี่ยนที่ให้ประโยชน์ต่อลูกค้ามากกว่าได้ ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียม 0.3% ของกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้เริ่มออกผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงแบบใหม่ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว