xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ชี้บาทป่วน SME ส่งออกเสี่ยงเดี้ยง 9 พันล. จี้ซื้อฟอร์เวิร์ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กสิกรไทย” ประเมินผลกระทบบาทแข็งต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พบ 2.2 หมื่นล้านบาท ได้รับผลกระทบ และหากกรณีเลวร้ายอาจจะมีสินเชื่อเสียหาย 9.1 พันล้านบาท พร้อมออกผลิตภัณฑ์ จี้ลูกค้าเร่งประกันความเสี่ยง

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)เปิดเผยว่า จากในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทมีความผันผวนและแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2011 เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในปัจจุบัน อยู่ในระดับ 29.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และธนาคารคาดว่าจะอยู่ในระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปีนี้ ซึ่งภาวะดังกล่าวทำผู้ส่งออกโดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบมากพอสมควร

นอกจากส่วนผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบแล้ว ธุรกิจ หรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ผู้ผลิตสินค้าขายให้ผู้ส่งออก โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในระดับต้นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์และไม้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

สำหรับในส่วนของธนาคารกสิกรไทยนั้น มียอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอี 480,000 ล้านบาท เป็นส่วนของลูกค้าที่ทำการค้าต่างประเทศ 20% หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท และทั้งพอร์ตรวมมีลูกค้าที่เป็นผู้ส่งออก และธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องรวม 22,000 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นกรณีเลวร้ายประเมินสินเชื่อที่มีความเสี่ยงจะได้รับความเสียหาย 9,100 ล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน

ออกมาตรการหนุนป้องกันเสี่ยง

ทั้งนี้ จากความผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้น ธนาคารจึงออกมาตรการ “K SME ช่วยเต็มที่ลูกค้าส่งออก” เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงินบาทในหลายรูปแบบ โดยลูกค้าปัจจุบันที่มีวงเงินสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ทุกราย จะได้รับวงเงิน Forward Contract กับธนาคารโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเติม ซึ่งลูกค้าสามารถทราบอัตราแลกเปลี่ยนของเงินได้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่จอง จึงสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ 100% โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยง

นอกจากนั้น ยังสามารถป้องกันความเสี่ยงแบบ K-Right Zero ซึ่งเหมาะกับช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง มีทิศทางไม่แน่นอน และสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ 100% เช่นกัน โดยมีจุดเด่นที่เมื่อลูกค้าจองอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าแล้ว หากถึงกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนราคาตลาดดีกว่าลูกค้าก็สามารถเลือกอัตราแลกเปลี่ยนที่ให้ประโยชน์แก่ลูกค้ามากกว่าได้

“เราคงไม่ได้ตั้งเป้าไว้สำหรับจำนวนผู้ใช้บริการป้องกันความเสี่ยงที่ออกมานี้ เพราะที่ผ่านมา ลูกค้ายังใช้ค่อนข้างน้อย ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ยังชอบความเสี่ยง และห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ก็เราต้องมีผลิตภัณฑ์ออกมารองรับไปพร้อมกับให้ความรู้ถึงผลได้ผลเสียกับลูกค้ามากกว่านี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น