โฆษกรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ เผยที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันนี้ หารือผลประกอบการ Q1 หลังกระทบบาทแข็ง ค่าแรง 300 บาท ขณะที่ สศช.รายงานที่ประชุม ห่วงบาทแข็งกระทบเศรษฐกิจ Q2 และ Q3 แต่ยังคงประมาณการทั้งปีที่ 4.5-5.5%
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา หัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ หรือโฆษกเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ เพื่อรับทราบสถานการณ์ค่าเงินบาท และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1
โดยการประชุมคณะทำงานเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก โดยเฉพาะผลกระทบค่าเงินบาท และผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน
รายงานเบื้องต้น พบว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับตัวได้บ้างแล้ว
ส่วนปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากนี้จะต้องติดตามว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการใดเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท หลังจากภาคเอกชนได้ออกมาสะท้อนถึงผลกระทบที่ได้รับบ้างแล้ว
ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 เนื่องจากการส่งออกไตรมาสที่ 1 ยังคงขยายตัวได้ที่ระดับ 4.5% จากเป้าหมายที่ 9% เพราะผู้ส่งออกยังคำสั่งซื้อค้างจากช่วงปลายปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทยังแข็งที่ระดับปัจจุบัน จะกระทบต่อการส่งออกไตรมาสที่ 2 และ 3 และกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม แต่การประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งนี้ สศช.ยังคงประมาณการอัตราเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 4.5-5.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5-3.5% ซึ่งต้องจับตาการแถลงตัวเลขจีดีพีวันที่ 20 พ.ค.นี้ ว่า สศช.จะปรับตัวเลขหรือไม่
สศช.ยังระบุว่า เดือน มี.ค.มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 222 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักเป็นเพราะคนไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือน เม.ย.อยู่ที่ 29.07 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจาก 29.52 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเดือน มี.ค. โดย 4 เดือนแรกของปีค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 29.62 บาทต่อเหรียญสหัฐ