ลีสซิ่งกสิกรฯ เผยมีสัญญาณลูกค้าปฏิเสธรับรถยนต์คันแรกมากขึ้น เนื่องจากไม่มีความพร้อมทางการเงิน ขอสินเชื่อไม่ผ่าน และจองรถยนต์คันแรกไว้หลายคันแล้วเปลี่ยนใจ ซึ่งมีผลให้ดีลเลอร์ และบริษัทรถยนต์ต้องขายให้แก่ลูกค้ารายใหม่ โดยเพิ่มของแถม หรือยอมขายกำไรน้อยลง เพื่อไม่ให้รถยนต์ค้างในสต๊อก ขณะที่มีการจับตามองว่าการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในระบบมีนัยสำคัญ
นายอัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมหลังนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลสิ้นสุดลง ทำให้ตลาดรถยนต์ปีนี้มีทิศทางที่หดตัวลง แต่ยอดขายรถยนต์เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังมีถึง 156,951 คัน เป็นการส่งสัญญาณว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2556 อาจจะไม่แย่ลงมากอย่างที่หลายฝ่ายกำลังตื่นตระหนก อีกทั้งการเปิดตัวรถยนต์ของหลายค่ายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในประเทศขยายตัวได้ดี
นายอิสระ วงศ์รุ่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังขยายตัวต่อเนื่องตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่มีถึง 412,680 คัน โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2 จะมีการส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถคันแรกได้เกือบทั้งหมด ทำให้ยอดขายส่วนใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 ในปีนี้จะเกิดขึ้นภายในครึ่งแรกของปี
ขณะที่ยอดขายรวมในปี 2556 คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคัน ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบสถาบันการเงินปี 2556 จะขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลงเป็นประมาณร้อยละ 20-25 เทียบกับอัตราการขยายตัวร้อยละ 34 ในปี 2555 จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 27-33 ทำให้ผู้ประกอบการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่างเตรียมรับมือกับภาวะสินเชื่อใหม่ที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะปรากฏชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปี 2556
นายอิสระ กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ลูกค้าปฏิเสธการรับรถยนต์ เนื่องจากไม่มีความพร้อมทางการเงิน ขอสินเชื่อไม่ผ่าน และจองรถยนต์คันแรกไว้หลายคันแล้วเปลี่ยนใจ ซึ่งมีผลให้ดีลเลอร์ และบริษัทรถยนต์ต้องขายให้แก่ลูกค้ารายใหม่ โดยเพิ่มของแถม หรือยอมขายกำไรน้อยลง เพื่อไม่ให้รถยนต์ค้างในสต๊อก ขณะที่คุณภาพสินเชื่อ ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลขยับขึ้นจากร้อยละ 1.15 เมื่อสิ้นปี 2554 เป็นร้อยละ 1.41 สิ้นปี 2555 ซึ่งมีการจับตามองว่า การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในระบบมีนัยสำคัญ
ส่วนสินเชื่อรถแลกเงินที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงจึงมีส่วนช่วยพยุงความสามารถในการทำกำไรให้แก่ธุรกิจได้ในภาวะที่การแข่งขันในตลาดเช่าซื้อรถใหม่รุนแรง อีกทั้งปัจจุบันทิศทางความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคในกลุ่มครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นโอกาสที่จะขยายตลาดสินเชื่อประเภทนี้ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลโดยทั่วไป
นายอิสระ กล่าวอีกว่า ตัวเลขยอดขายรถยนต์ที่มีแนวโน้มดี ส่งผลให้บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ไตรมาสแรกปี 2556 ได้ถึง 21,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีที่แล้ว 3,590 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.49 แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ 9,077 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสแรกปีก่อน 398 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.58 และเป็นสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floor Plan) 12,032 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสแรกปีก่อน 3,192 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.1 และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 23.4
ขณะที่สินเชื่อคงค้างในระบบ (Outstanding Loan) ของบริษัท อยู่ที่ 84,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,505 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2555 โดยมีสัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ร้อยละ 0.79 ต่ำกว่ายอดเอ็นพีแอลไตรมาสแรกปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.97 และต่ำกว่าเอ็นพีแอลเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ที่ระดับร้อยละ 0.81 ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2556 ของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย มีกำไร 123 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 43.70 และคาดว่าสิ้นปีนี้สินเชื่อลีสซิ่งของบริษัทจะขยายตัวร้อยละ 20 ตามเป้าหมาย