เอสเอ็มอีแบงก์ ฟุ้งกำไร 350 ล้านไตรมาสแรก หลังเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู สำหรับกรณีเงินบาทแข็งค่าไม่ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีของธนาคารมากนัก เพราะหนี้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการค้าขายในประเทศ แต่สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงคือ การดูแลค่าเงินบาทให้แข็งค่าไม่มีความผันผวน
นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า หลังจากเอสเอ็มอีแบงก์ได้บริหารตามแผนฟื้นฟูของกระทรวงการคลัง จึงสามารถแก้ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากสิ้นปี 55 มียอดเท่ากับ 31,279 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32.31 เมื่อได้ทำการเจรจาแก้ปัญหาทำให้เอ็นพีแอลกลับมาเป็นลูกค้าปกติ จำนวน 2,482 ล้านบาท
แต่มีลูกหนี้มีปัญหาเมื่อแก้ไขแล้วยังกลับมาตกชั้น และคาดว่าจะเป็นหนี้เอ็นพีแอลสูงถึง 1,570 ล้านบาท รวมกับลูกหนี้ปกติกลับมาตกชั้นเพิ่มเติมเพราะคุณภาพต่ำลง จำนวน 738 ล้านบาท ปัญหาหนี้ส่วนใหญ่เป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รีสอร์ตขนาดเล็กในต่างจังหวัด ส่งผลให้สิ้นไตรมาสแรกปี 56 มียอดเอ็นพีแอลเท่ากับ 30,731 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.92 และสิ้นปีคาดว่าเอ็นพีแอลจะลดเหลือประมาณ 28,00-29,00 ล้านบาท โดยยังเข้มงวดคุณภาพสินค้าอย่างใกล้ชิด
สำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่รองรับแผนฟื้นฟูเน้นปล่อยกู้ให้แก่รายย่อย โดยปล่อยสินเชื่อ จำนวน 6,778 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรองรับโครงการของรัฐ และสินเชื่อสำหรับพัฒนาผลิตภาพ วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท และสินเชื่อแฟกตอริ่ง เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ และมียอด BIS Ratio ร้อยละ 5.01 โดยไม่ต้องตั้งสำรองสินเชื่อของรัฐ ทำให้ผลประกอบการสิ้นไตรมาสแรกมีกำไรสิทธิ 350 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะแก้ปัญหาเอ็นพีแอลให้ลดเหลือ 28,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28
สำหรับกรณีเงินบาทแข็งค่าไม่ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีของธนาคารมากนัก เพราะหนี้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการค้าขายในประเทศ แต่สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงคือ การดูแลค่าเงินบาทให้แข็งค่าไม่มีความผันผวน