xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติปราม บ.เอกชนหัวใสฉวยโอกาส ดบ.ต่ำ กู้เงินนอกเข้ามาเก็งกำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แบงก์ชาติปรามบริษัทเอกชนหัวใส อาศัยจังหวะดอกเบี้ยต่ำไปกู้เงินต่างประเทศเข้ามาเก็งกำไรในประเทศ หวังฟันกำไรส่วนต่างดอกเบี้ย และค่าเงิน “ประสาร” ห่วงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่บริษัทตัวเอง และเศรษฐกิจโดยรวม ขู่หากยังนำเงินดอลลาร์เข้ามามากเกินไปแบงก์ชาติอาจต้องมีมาตรการออกมาเตือน

จากกรณีที่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้บริษัทเอกชนของไทยนิยมกู้เงินนอกประเทศมากขึ้น อาจทำให้ความเสี่ยงต่อเงินบาทมีมากขึ้นนั้น นายประสาร ไตรรัตน์วรกล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า เริ่มเห็นบริษัทขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่มีการกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ เพราะหลายฝ่ายมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ก็ทำให้เกิดความเป็นห่วง ทั้งสถานะของบริษัทเหล่านี้ และส่วนที่อาจจะกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย

“ถ้าเห็นว่ามีความจำเป็น ทางเราก็จะออกมาเตือน เพราะหากมีการเอาเงินดอลลาร์เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ถึงผมกั้นเขื่อนแค่ไหนก็ไม่อยู่ ซึ่งเรื่องนี้แบงก์ชาติเองก็กำลังติดตามดูอยู่ เพราะไม่ต้องการเห็นลักษณะการเก็งกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต่ำจากนอกประเทศ แล้วเข้ามาลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น เมื่อแลกกลับก็จะได้กำไรส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนอีกต่อ นอกเหนือจากส่วนของดอกเบี้ย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสถานการณ์ค่าเงินไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเราไม่ได้ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เงินบาทก็ไม่ได้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งตลอดไป”

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 40 อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนอกประเทศ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประเทศอยู่ที่ระดับ 10% อีกทั้งในปี 40 ประเทศไทยใช้ระบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ จึงไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเลย ทำให้ช่วงนั้นคนไทยแห่กู้นอกประเทศเขามามาก แม้ขณะนี้ภาพเหล่านี้จะกลับมา คือ อัตราดอกเบี้ยไทยสูงกว่านอกประเทศก็จริง แต่สุดท้ายแล้วต้นทุนการกู้ยืมไม่ต่างกันมากนัก

ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุริจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่้อช่วยบรรเทาผลกระทบเงินบาทแข็งค่าตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่แสดงความเป็นห่วงว่า ธปท.ได้ประสานเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับธนาคารพาณิชย์ 2-3 ครั้งในช่วงที่ผานมา และธนาคารหลายแห่งตอบรับค่อนข้างดี เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ทหารไทย กรุงไทย เป็นต้น ซึ่งธนาคารเหล่านี้ได้ออกผลิตภัณฑ์มารองรับส่วนนี้แล้ว

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นไปตามข้อเสนอที่ทางผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีเสนอมาก่อนหน้านี้ 3-4 ข้อ ได้แก่ 1.ใหัความรู้ความเข้าใจในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี 2.กำหนดวงเงินสัญญาป้องกันความเสี่ยงตามขนาดที่ธุรกิจเอสเอ็มอีพอทำได้ 3.แยกวงเงินการทำ Hedging ออกจากวงเงินเครดิต เพื่อให้กระทบวงเงินเครดิตของธุรกิจเอสเอ็มอี และ 4.ไม่คิดค่าธรรมเนียมฝาก หรือโอนในบัญชีเงินฝากในรูปเงินตราต่างประเทศของคนไทยเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้จากการค้าขายเป็นรูปเงินตราต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น