สศค.มองยังมีช่องใช้นโยบายการเงินแก้บาทแข็ง แต่มาตรการภาษียังไม่เหมาะ เพราะเอาไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจะทำให้เกิดการตื่นตระหนก และกระทบต่อความเชื่อมั่นรุนแรง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การประชุมของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ร่วมกับนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้เป็นการติดตามสถานการณ์เงินบาทหลังจากแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ได้ติดตามดูแลเงินบาทอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยผู้ว่าการ ธปท.รายงานว่าได้ส่งหนังสือไปยังผู้เกี่ยวข้องให้รายงานข้อมูลการนำเข้าเงินตราต่างประเทศอย่างละเอียดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่า ธปท. ติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ธปท.ยืนยันว่า ยังมีมาตรการพร้อมนำมาใช้ดูแลค่าเงินบาท และแม้ขณะนี้จะยังมีเงินทุนไหลเข้ามาจำนวนมาก แต่ ธปท.ยังสามารถบริหารจัดการได้
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สศค. มองว่า การบริหารค่าเงินบาทยังสามารถใช้นโยบายการเงินเข้าไปดูแลได้ โดย กนง.จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่การใช้มาตรการภาษีมาดูแลค่าเงินนั้นควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจะทำให้เกิดการตื่นตระหนก กระทบต่อความเชื่อมั่น และต้องชี้แจงต่อนักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก
“เงินที่เข้ามาเยอะๆ แบงก์ชาติยืนยันว่ายังรองรับได้ แต่ก็มีความเห็นว่าการกระทำอย่างหนึ่งอาจจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งยังมีช่องที่จะทำได้ โดย กนง.เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยที่เราไม่สามารถแทรกแซงได้”
ส่วนมาตรการการคลังนั้น ได้ประกาศชัดเจนที่จะมีส่วนในการดูแลค่าเงินบาท เช่น การกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รวมถึง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะกู้เงินในประเทศเป็นส่วนใหญ่ พร้อมทั้งเร่งให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศในช่วงที่เงินบาทแข็งค่ามาก
นอกจากนี้ สศค.เตรียมศึกษาการจัดตั้งกองทุนร่วมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากบาทแข็ง โดยศึกษาแนวทางจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น โดยคาดว่าหลังผ่านเทศกาลสงกรานต์น่าจะเห็นความชัดเจนได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น