คลังเผยจัดเก็บรายได้รัฐ มี.ค. ยอดรวม 151,037 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.3% เป็นผลจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ดันรายได้รัฐบาลครึ่งปีงบประมาณ 56 สูงกว่าเป้าหมาย 10.7%
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค.56 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 151,037 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,878 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 โดยสาเหตุสำคัญมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,075 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.8 เป็นผลจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,295 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.9 สืบเนื่องจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 56 (ต.ค.55-มี.ค.56) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 978,834 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 94,856 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 จากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าเป้าหมาย 59,922 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาษีรถยนต์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย บ่งชี้ถึงอุปสงค์ภายในประเทศ รายได้ภาคครัวเรือน และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าเป้าหมาย 41,871 ล้านบาท และ 5,776 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.0 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ
“จากมาตรการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ 2.1 ล้านล้านบาท”
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ 1.กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 702,632 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 36,154 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 15,175 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.0 สะท้อนถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่ขยายตัวได้ดีตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ, ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 7,879 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 สาเหตุมาจากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง และภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,342 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.2 เป็นผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ
2.กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 231,105 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 22,959 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.0 โดยภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 25,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 40.6 เป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นสำคัญ ขณะที่ภาษียาสูบและภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,272 ล้านบาท และ 3,384 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.6 และร้อยละ 9.7 ตามลำดับ เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุราเมื่อเดือนส.ค.
3.กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 58,659 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 809 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 727 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า
4.รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 50,760 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 5,776 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.8
5.หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 95,526 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 41,871 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้สัมปทานปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 5,144 ล้านบาท สาเหตุมาจากปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับกรมธนารักษ์จัดเก็บสูงกว่าเป้าหมาย 1,404 ล้านบาท จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีรายได้พิเศษ ได้แก่ รายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz จำนวน 20,843 ล้านบาท, การส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้า จำนวน 8,227 ล้านบาท, เงินชำระหนี้ค่าข้าวจากโครงการขายข้าวรัฐบาลรัสเซีย จำนวน 1,118 ล้านบาท เป็นต้น
6.การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 144,856 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,686 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.8
7.การจัดสรรรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 7,742 ล้านบาท และ 7,250 ล้านบาท ตามลำดับ สูงกว่าประมาณการ 501 ล้านบาท และ 526 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.9 และร้อยละ 7.8 ตามลำดับ