ธปท. เผยสถานการณ์เงินบาทเริ่มดีขึ้น พบมีแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาจากทั้งนักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นแล้วต้องการซื้อเงินดอลลาร์เพื่อนำเงินออก ส่วนนักลงทุนไทยเห็นว่าเงินบาทลงลึกและเร็ว จึงต้องการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ไว้ บวกกับแรงซื้อเงินดอลลาร์ของนักลงทุนไทยที่ต้องการไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าเริ่มปรับดีขึ้น เนื่องจากมีแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาจากทั้งนักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นแล้วต้องการซื้อเงินดอลลาร์เพื่อนำเงินออก ส่วนนักลงทุนไทยเห็นว่าเงินบาทลงลึกและเร็ว จึงต้องการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ไว้ บวกกับแรงซื้อเงินดอลลาร์ของนักลงทุนไทยที่ต้องการไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ทีดีไอ) อีก ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง
นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ภาวะที่เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ธปท.คงไม่ออกมาบอกว่าเข้าแทรกแซงหรือไม่ แต่พยายามดูแลตามความเหมาะสม เพราะต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค โดยจากต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 4.5 แข็งกว่าสกุลอื่นบ้าง แต่ก็ต้องดูว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าน้อยว่าสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังมองว่า เงินทุนต่างชาติยังมีโอกาสที่จะไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างสม่ำเสมอ แม้จะมีต่างชาติเคยลงทุนในตลาดหุ้นไหลออกไปบ้าง แต่ที่สุดแรงซื้อเงินบาทก็มีค่อนข้างเหนียวแน่น เห็นได้จากนักลงทุนที่มีถิ่นฐานนอกประเทศ (เอ็นอาร์) ก็ซื้อ ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติขายแต่ก็มีนักลงทุนต่างชาติอีกฝั่งเข้ามาซื้อ ส่งผลให้แรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างสมดุล แต่สาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติซื้อเงินดอลลาร์นำเงินออกไป ไม่ได้เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกปรับดีขึ้นจะเอาเงินออก แต่เป็นผลจากแรงซื้อคนไทยที่ต้องการจะไปลงทุนต่างประเทศมีต่อเนื่อง ทำให้ทีดีไอมีแรงซื้อเงินดอลลาร์เข้ามาเรื่อยๆ บวกกับบางจังหวะเอ็นอาร์ก็เปลี่ยนมาซื้อเงินดอลลาร์ด้วย ช่วยเสริมแรงให้บาทอ่อนค่าลงไปได้
“ภาวะเงินทุนเข้าออกที่สมดุลทำให้สบายใจขึ้นได้บ้าง แต่การที่ค่าเงินบาทแกว่งกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ไม่ได้เป็นอะไรที่ผิดคาด เพราะถ้าเงินบาทแข็งเร็ว ก็จะมีคนบางกลุ่มเข้ามาซื้อเข้ามาทำธุรกรรม เพราะนักลงทุนกลุ่มนี้เห็นว่า เงินบาทแข็งเร็วในระยะเวลาสั้นๆ ก็จะซื้อไว้ ทำให้ตลาดเปลี่ยนทิศ คิดว่ามองไปข้างหน้าคงเป็นอย่างนี้ คือ เงินบาทจะไม่ใช่แข็งด้านเดียว หรือวันเวย์” นางผ่องเพ็ญกล่าว
รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ภาวะนี้ถึงเงินบาทจะแข็งค่าแต่ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อ หรือมีโทรศัพท์เข้ามาต่อว่าเรื่องค่าเงินบาทแข็งอย่างช่วงปี 2551-2552 เนื่องจากภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นมาก มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี และซื้อป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าตลาดรับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นของค่าเงินบาทได้ดีขึ้น
“ข้อเสนอที่ขอให้มีการลงทะเบียนเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่ ธปท.เตรียมไว้ เป็นหนึ่งในเมนูของเราที่มอง เพียงแต่การบังคับใช้ต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม เพราะการบังคับใช้ ธปท.ค่อนข้างห่วงผลกระทบในทางลบ และการทำมาตรการในกรณีจำเป็นก็คงไม่ใช้มาตรการที่รุนแรงปิดประตูเงินทุนไหลเข้าไปเลย เพราะประเทศไทยยังต้องการลงทุนอีกมาก ทั้งภาคธุรกิจ และภาครัฐ” นางผ่องเพ็ญ กล่าว
ดังนั้น การทำมาตรการต้องให้สมดุลในระดับ และขนาดที่เหมาะสม ให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่หวือหวา ซึ่งการทำไม่จำเป็นต้องเริ่มจากมาตรการเบาไปหนัก อยู่ที่ภาวะตลาดเป็นหลัก ตอนนี้ ธปท.ได้พูดคุยกับกระทรวงการคลังบ้างแล้วว่าควรทำอะไรบ้าง ในดีกรีระดับไหน ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการป้องปราม หรือมาตรการที่บังคับทันทีในช่องทางนั้นๆ ก็ได้
นอกจากนี้ ธปท.อาจจะพิจารณาช่องทางส่งเสริมเงินทุนไหลออกเพิ่มเติมด้วย เพราะในบางจังหวะอาจจะสามารถทำมาตรการที่วางไว้ก่อนล่วงหน้าได้ ขณะนี้กำลังดูว่าจำเป็นต้องเปิดอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อสร้างสมดุลเงินทุนไหลเข้าและออก ซึ่งหลายมาตรการอาจจะทำเร็วขึ้นหรือไม่ หรือมาตรการที่เตรียมจะทำปีหน้าอาจจะพิจารณาทำในปีนี้ในบางส่วน เป็นต้น อยู่ที่สถานการณ์ เพราะ ธปท.ติดตามงินทุนไหเข้าออกอยู่แล้วจะเห็นความเคลื่อนไหวทั้งหมดอยู่แล้ว