xs
xsm
sm
md
lg

กระแสการลงทุนในอสังหาฯ NPA มีแนวโน้มคึกคักรับ AEC กรุงไทยชี้จุดได้เปรียบด้านราคา-ทำเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธนาคารกรุงไทยเผยทรัพย์ NPA ของแบงก์อยู่ในกระแสความสนใจของการลงทุน ย้ำหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อสังหาริมทรัพย์ในเขตเศรษฐกิจชายแดน และจังหวัดแนวการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมจะคึกคักเป็นพิเศษ แนะรีบตัดสินใจซื้อก่อนราคาขยับไปกว่านี้  ยืนยันขณะนี้ NPA ทุกประเภทยังถูกกว่าทรัพย์ใหม่
 
นายสุชาติ เดชอิทธิรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่มทรัพย์สินพร้อมขาย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวทางในการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันนี้ว่า เป็นกระแสที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงจากกลุ่มนักลงทุน  โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มสินทรัพย์พร้อมขาย  หรือ  NPA  จากสถาบันการเงินต่างๆ เนื่องจากมีผลตอบแทนที่ดี และราคายังถูกกว่าอสังหาริมทรัพย์ใหม่เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% นอกจากนี้แล้ว ทรัพย์ NPA ยังมีจุดเด่นที่ดึงดูดให้เกิดการซื้อและลงทุนหลายอย่างที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มได้ เช่นในเรื่องของประเภทใช้สอยที่สามารถนำมาใช้งานได้ทันที ซึ่งมีให้เลือกทั้งสภาพใหม่พร้อมใช้งาน และทรัพย์ที่ต้องนำมาปรับปรุงใหม่ แต่ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ เรื่องของทำเลที่ตั้ง เพราะทรัพย์ NPA ส่วนใหญ่อยู่ในเขตธุรกิจ หรือชุมชนที่มีการพัฒนาแล้ว และตั้งอยู่ในเขตที่รอการพัฒนา รวมทั้งตั้งอยู่ใกล้กับโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ทรัพย์สินเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
 
 
นอกจากนี้แล้ว ทรัพย์ NPA  ยังมีความหลากหลายที่สามารถเลือกลงทุน และนำมาพัฒนาทางธุรกิจได้ เนื่องจากมีทั้งที่ดินเปล่า และสิ่งปลูกสร้างทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงแรม โกดัง ฯลฯ  ที่นอกจากสามารถใช้ประโยชน์ทั้งการอยู่อาศัย และทำธุรกิจแล้ว ยังสามารถนำมาต่อยอดสร้างรายได้จากการลงทุนโดยนำไปให้เช่า เก็บไว้เป็นทรัพย์สินที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถลงทุนเพื่อนำมาพัฒนาทางธุรกิจ ที่สำคัญราคาขายยังแตกต่างจากทรัพย์ใหม่ โดยเฉพาะทรัพย์ที่มีการก่อสร้างใหม่ มีแนวโน้มว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทุกปี  NPA จึงมีราคาต่ำกว่าทรัพย์ใหม่อย่างชัดเจน และผู้สนใจยังสามารถเลือกทำเลได้ตามความต้องการ
 
 
ประชาชน และนักลงทุนได้ให้ความสนใจซื้อทรัพย์ NPA เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2553-2555)  ธนาคารกรุงไทยสามารถขาย  NPA ได้มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมที่เฉลี่ยปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท และในช่วง  ต่อจากนี้ไปจะมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงราคาของ NPA ให้เพิ่มขึ้นอีกได้แก่ การประกาศใช้ผังเมืองใหม่ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และอาจส่งผลต่อราคาที่ดิน ทำให้ต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์ใหม่มีราคาแพง และการพัฒนาจะห่างไกลออกจากเขตเมืองมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มือสอง รวมทั้งทรัพย์ NPA ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
 
 
“การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  ทำให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเกิดกระแสการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการจะเกิดเครือข่ายการคมนาคมแนวเหนือ-ใต้ หรือ North-South Economic Corridor (NSEC) 2 เส้นทาง คือ โครงข่ายสิงคโปร์-คุนหมิง และโครงข่ายเวียงจันทน์-แหลมฉบัง แนวตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor (EWEC) 3 เส้นทาง คือ โครงข่ายย่างกุ้ง-ดานัง โครงข่ายทวาย-วงเตา และโครงข่ายกรุงเทพฯ-พนมเปญ รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สาย ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-ระยอง กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หัวหิน  ทำให้พื้นที่ในเขตจังหวัดใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว ระยอง ตราด กาญจนบุรี ตาก สงขลา  มีความตื่นตัวด้านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น
 
 
นอกเหนือจากบางจังหวัดที่มีกระแสการลงทุนเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว  ในปี 2556  นี้ ทางธนาคารจึงมีแผนที่จะบุกการขาย NPA ในส่วนภูมิภาคต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีการจัดทีมจากสำนักงานใหญ่ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ และทำงานร่วมกับสาขาของธนาคาร มีการนำเสนอ และแนะนำการใช้ประโยชน์ทรัพย์ด้าน NPA โดยทางธนาคารไม่ได้มุ่งหวังด้านการขายเพียงอย่างเดียว แต่พร้อมที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจทั้งนักลงทุนรายใหญ่ หรือรายย่อย ขณะนี้ธนาคารมีพร้อมขายประเภทต่างๆ ครอบคลุมทั่วประเทศจำนวนกว่า5,000 รายการ  มูลค่ากว่า  23,000 ล้านบาท  ”  
กำลังโหลดความคิดเห็น