xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติดสถานการณ์เม็ดเงินนอกแผ่วลง แต่ยังไม่ไหลออก นลท. โยกลุยบอนด์ระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ช่วยเอ็มดี “ตลาดตราสารหนี้” เผยต่างชาติขน 2.5 หมื่นล้าน จ่ายบอนด์อ้างอิงเงินเฟ้อ ดันบาทแข็ง ระบุเดือน ก.พ.-มี.ค. แรงซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นเริ่มแผ่วลง โดยหันไปลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้น

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา (ก.พ.-มี.ค.) เงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้เริ่มชะลอตัว เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. โดยเงินทุนที่ไหลเข้าเริ่มปรับสัดส่วนจากตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นตราสารหนี้ระยะยาว 3 ปี 5 ปี และ 10 ปีมากขึ้น

“เดิมทีมีเงินไหลเข้าเก็งกำไรตราสารหนี้ระยะสั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80-90% แต่ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ลดสัดส่วนเหลือ 60-70% ส่วนที่เหลือย้ายไปลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้น แต่มูลค่าการซื้อขายก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน”

น.ส.อริยา กล่าวว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดพันธบัตรค่อนข้างนิ่ง ขณะเดียวกัน ค่าเงืนบาทก็นิ่งเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าเงินทุนไหลเข้าเริ่มชะลอตัว

“เท่าที่ติดตามสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณเงินไหลออก ส่วนเงินที่ไหลเข้าก็น้อยลง เงินที่เข้าลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หรือฮอต มันนี่ ที่เรากังวลก็น้อยลง”

ส่วนกรณีที่สถาบันจัดอันดับเครดิต ฟิทช์ เรทติ้ง มีการปรับเครดิตประเทศ เป็น BBB+ ในช่วงต้นสัปดาห์ ไม่ส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้มากนัก เพราะการปรับเครดิตประเทศเป็นการปรับให้สอดคล้องกับสถาบันจัดอันดับเครดิต มูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส และสถาบันจัดอันดับเครดิต สแตนดาร์ด แอนด์พัวร์ส (เอสแอนด์พี)

ด้านภาพรวมตลาดตราสารหนี้ เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) พบว่า มีการซื้อสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินที่นักลงทุนต่างชาตินำมาชำระพันธบัตรอ้างอิงเงินเฟ้อจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เป็นการซื้อขายตราสารหนี้ปกติอยู่ที่ประมาณ 2.8 พันล้านบาท

“สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าน่าจะมาจากการที่นักลงทุนโยกเงินมาชำระบอนด์อ้างอิงเงินเฟ้อ เพราะปัจจัยอื่นยังไม่เห็นมีอะไรเข้ามา”

สำหรับยอดลงทุนตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือน ม.ค.56 ซื้อสุทธิอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท เดือน ก.พ. ซื้อสุทธิ 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในเดือน มี.ค. (1-8 มี.ค.) ซื้อสุทธิ 2.3 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น