xs
xsm
sm
md
lg

ITD เดินหน้าทวายต่อ ก่อนโยกเข้า SPV ของรัฐ เผยงานในมือ 2.3 แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เปรมชัย กรรณสูต” เปิดใจญี่ปุ่นไม่ปล่อยกู้เอกชนหวั่นไม่มั่นคง ตั้งข้อแม้ต้องมีรัฐบาลร่วมทุน ยันเคลียร์ปัญหาจบ โดยให้รัฐบาลไทยตั้ง SPV ดูแลแทน ดึงรัฐบาลพม่า และอีก 4-5 ประเทศร่วมลงทุน เตรียมจัดตั้ง 8 บริษัทขึ้นดูแลส่วนต่างๆ ในนิคม โดย ITD ตั้งเป้าถือหุ้นไม่เกิน 25% ต่อบริษัท ยันเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่องจนกว่ารัฐบาลตั้ง SPV จบพร้อมส่งไม้ต่อทันที

นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผยถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงโครงการการถือหุ้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า เนื่องจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อในโครงการ ไม่มีนโยบายปล่อยสินเชื่อให้แก่เอกชนในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เพราะมีความเสี่ยงทั้งในด้านการลงทุน และการเมืองภายในของพม่า ดังนั้น จึงได้เสนอให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินการต่อดังกล่าว จากเดิมที่เป็นการทำสัญญาระหว่างเอกชน อันได้แก่ บริษัท ITD กับรัฐบาลพม่า กลายเป็นความร่วมมือระดับ “รัฐต่อรัฐ” (G to G) แทน ทั้งนี้ บริษัท ITD ยังคงร่วมลงทุนพัฒนาโครงการทวายด้วยเช่นเดิม

สำหรับรูปแบบการร่วมลงทุนเพื่อระดมทุนรัฐบาล จะจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ในลักษณะที่เป็น บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน ขึ้นในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เป็น Holding company โดยมีรัฐบาลไทย และพม่าถือหุ้นรวมกัน 60% อีก 40% จะเป็นรัฐบาลประเทศอื่นๆ อีก 4-5 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เป็นต้น โดยคาดว่า SPV จะก่อตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

หลังจากนั้น จะทำการก่อตั้งนิติบุคคลย่อย หรือ Special Purpose companies : SPCs) อีก 8 บริษัท เพื่อลงทุนในแต่ละสาขา ได้แก่ ท่าเรือ, ถนน, ผลิตไฟฟ้า, ผลิตน้ำและบำบัดน้ำเสีย, นิคมอุตสาหกรรม, สื่อสารโทรคมนาคม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดย ITD จะเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทย่อยทั้ง 8 บริษัท โดยตั้งเป้าไว้บริษัทละไม่เกิน 25% ส่วนที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการหาผู้เข้ามาร่วมลงทุน

“การจัดตั้งรูปแบบนี้ช่วยให้ผู้ลงทุนมั่นใจ และญี่ปุ่นมั่นใจปล่อยเงินกู้ การมอบสิทธิสัมปทานให้ SPV ไม่ได้หมายความว่าเราออกจากโครงการ แต่เรา(ITD)เปลี่ยนสภาพจากผู้พัฒนาโดยตรงมาเป็นผู้ลงทุนในบริษัทดำเนินการ (SPC)...การเป็นลักษณะ G to G มั่นคงกว่า เมื่อมีรัฐบาลมาเกี่ยวข้องนักลงทุนก็มีความมั่นใจ” นายเปรมชัยกล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอรัฐบาลจัดตั้ง SPV ทาง ITD จะเดินหน้าก่อสร้างโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้โครงการหยุดชะงัก เพราะที่ผ่านมา โครงการล่าช้าเนื่องจากรัฐบาลพม่าเกิดความลังเลเมื่อญี่ปุ่นยังไม่ตัดสินใจให้เงินกู้ แต่หลังจากนี้ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว และหลักจากรัฐบาลก่อตั้ง SPV แล้วเสร็จ ITD ก็จะโอนทุกอย่างไปเป็นของ SPV แปลงส่วนที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้เป็นทุนใน 8 บริษัทแทน

นายเปรมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับเฟสแรกที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้เป็นโซนของอุตสาหกรรมส่งออก ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และอาหาร เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้จะย้ายฐานการผลิตไปจากไทยเพราะถูกตัดการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) ในปีหน้า โดยได้เตรียมพื้นที่รองรับกว่า 5,000 ไร่ และในสัปดาห์หน้าจะเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทผู้ผลิตก๊าซอันดับ 1 ของโลก

ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 2 โรง รวม 7,200 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในนิคม 3,200 เมกะวัตต์ อีก 4,000 เมกะวัตต์ จะส่งกลับมาขายในไทย จะใช้ระยะเวลาพัฒนากว่า 5 ปี ซึ่งเดิมบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH) จะเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ และที่ผ่านมามีเอกชนเสนอเข้าร่วมทุนแล้วกว่า 20 ราย

สำหรับโครงการก่อสร้างถนน และท่าเรือเฟสแรกในโครงการทวาย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะใช้จากส่วนทุน 30% ของเงินลงทุนดังกล่าว หรือจำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง ITD จะลงทุน 150 ล้านเหรียญ (หรือ 15% ของ 600 ล้านเหรียญ) ขณะที่ญี่ปุ่นต้องการให้เงินกู้ในสัดส่วน 80% ของเงินลงทุน

ทั้งนี้ ITD จะลงทุนสำหรับโซนแรกจำนวน 2 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกู้ 70% จากสถาบันการเงินในประเทศที่ให้เงินกู้ตามแต่ละโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ให้กู้สร้างโรงไฟฟ้า ธนาคารกรุงไทย ให้กู้ในโครงการนิคมอุตสาหกรรม และธนาคารไทยพาณิชย์ ให้กู้โครงการท่าเรือ และถนน ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ให้กู้โครงการน้ำ

เผย backlog ตุนในมือ 2.3 แสนล้าน

นายเปรมชัย กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปีนี้เชื่อว่าเป็นช่วงโอกาสที่ดีของบริษัท โดยคาดว่าการรับรู้รายได้จะปรับตัวดีขึ้นและผลประกอบการจะดีขึ้นด้วย เนื่องจากงานใหม่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีในระดับ 10% โดยคาดว่าจะทำให้ปีนี้มีอัตรากำไรขั้นต้นเกิน 10% จากปีก่อนอยู่ระดับ 11% ส่วนอัตรากำไรสุทธิสูงขึ้นเป็นราว 2-3% จากปีก่อนที่ 1% เนื่องจากงานเก่าที่ไม่ค่อยมีกำไรหมดไปแล้ว รวมทั้งบริษัทคาดว่าจะมีส่วนร่วมในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาทของภาครัฐ ประมาณ 50% รวมถึงงานบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ขณะนี้เหลือคู่แข่งน้อยรายแล้ว ซึ่งปัจจุบัน ITD มีงานในมือ(backlog) แล้ว 2.3 แสนล้านบาท โดยจะสามารถรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ประมาณ 25-30% หรือประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น