ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นั้น หากมองย้อนกลับไปในตลาดการเงินของโลกจะพบว่า กระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก (ยกเว้นกระแสข่าวที่อาจมีการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) แต่หากกลับมาพิจารณาการเคลื่อนไหวของตลาดทองคำ กลับพบว่า ราคาทองคำตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์อ่อนตัวมาอย่างต่อเนื่อง (ปราศจากปัจจัยพื้นฐานรองรับ) สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บรรดานักวิเคราะห์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่างออกมาให้แนวโน้มว่า ราคาทองคำกำลังจะเปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาทองคำเกิด Death Cross ก็เลยมีคำถามตามมาว่า Death Cross คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งผู้เขียนจึงขอหยิบยกประเด็นนี้มาเป็นหัวข้อในครั้งนี้
Death Cross เป็นศัพท์ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่แสดงสภาวะของตลาดว่ากำลังมีแนวโน้มขาลง โดยแนวโน้มดังกล่าวเกิดจากเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะสั้นตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะยาวลงมา ซึ่งค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะยาวนั้นนิยมใช้ 200 วัน (SMA 200) ขณะที่ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะสั้นนั้น อาจใช้ 50 (SMA 50) หรือ 75วัน (SMA 75) ก็ได้ และการที่เส้นค่าเฉลี่ย 50 หรือ 75 วัน ได้ตัดเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันลงมา มีความหมายว่า กำลังการปรับตัวลงของราคามีค่อนข้างมาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เส้นค่าเฉลี่ยน้อยวันจะลงมาตัดเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วันนิยมใช้เป็นตัวแทนของราคาระดับปี)
จากเหตุการณ์ในอดีต Death Cross ก็ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2555 ณ บริเวณราคาปิดที่ 1,675.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำในรอบนั้นได้ปรับตัวลดลงไปประมาณ 148 ดอลลาร์ต่อออนซ์ด้วยกัน และเมื่อไม่นานมานี้ (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556) ลักษณะของ Death Cross (การตัดกันของค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 50 วัน ตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วันลงมา) ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้เกิดการคาดการณ์กันว่า แนวโน้มขาลงของตลาดทองคำได้เกิดขึ้นแล้ว และหลายฝ่ายก็กังวลว่า ราคาทองคำจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า แม้การเกิด Death Cross จะพอสามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มขาลงของตลาดได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดขึ้นตามที่คาดการณ์กันไว้เสมอไป บางครั้ง การเกิด Death Cross ก็กดดันราคาทองคำในระยะสั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้แสดงถึงแนวโน้มขาลงที่ชัดเจนมากนัก เพราะนักลงทุนต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องซ้ำรอยในอดีตเสมอไป การวิเคราะห์ทางเทคนิคจึงเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ประกอบการตัดสินในการลงทุน นักลงทุนจึงควรระมัดระวังการใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้มาก สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอฝากความเห็นส่วนตัวไว้ว่า สิ่งที่เป็นจริงอยู่เสมอในโลกของการลงทุนก็คือ ความไม่แน่นอนนั้นเป็นธรรมชาติของการลงทุน