ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมิน กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ระบุดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินไหลเข้า แต่ผลตอบแทนจากตลาดทุนยังดีอยู่ ห่วงหากปรับ ดบ.อาจะทำให้ต่างชาติโยกเงินเร็วขึ้น ทำตลาดป่วน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics)ประเมินการลดดอกเบี้ยนโยบายไม่พอต้านกระแสเงินทุนไหลเข้าที่มีอย่างต่อเนื่อง อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางนโยบายอื่นควบคู่กันไป เพื่อมุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และคาดว่า กนง. น่าจะมีมติให้คงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20 ก.พ. ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ TMB Analytics ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการไหลเข้าของเงินทุนคือ ผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดพันธบัตรไทย โดยเราจะวัดส่วนต่างอัตราผลตอบแทนการลงทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง (Information Ratio หรือ IR) สรุปสั้นๆ ก็คือ IR ยิ่งสูงยิ่งดี ซึ่งเมื่อคำนวณ IR โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ กนง. ลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด (17 ตุลาคม 2555) จนถึงปัจจุบันจะพบว่า IR ของไทยอยู่ในลำดับที่ 4 ใน 11 ประเทศกลุ่มเอเชีย แพ้แค่อินเดีย จีน และมาเลเซียเท่านั้น ตลาดพันธบัตรของไทยจึงนับว่าน่าดึงดูดในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ
ซึ่งหากไทยต้องการทำให้เงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติลดลง ก็ต้องลดความน่าจูงใจของอัตราผลตอบแทน หรือปรับลด IR ของไทยให้ต่ำกว่าในปัจจุบัน พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องทำให้ไทยสูญเสียอันดับความน่าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติลง ซึ่งจากการคำนวณพบว่า หากไทยต้องการลดอันดับลงมาเทียบเท่ากับเกาหลีใต้ ก็จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากถึงเกือบร้อยละ 1 จึงจะสามารถกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยลดความน่าดึงดูดลงมาได้
ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจจะไม่ใช่ทางออกในการสกัดกั้นเม็ดเงินทุนที่ไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง และอาจไม่เพียงพอที่จะลดความน่าลงทุนในตลาดไทยลง ยิ่งไปกว่านั้น การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน เกิดการโยกย้ายเงินเข้าออกเร็วขึ้น สร้างความผันผวนให้แก่ตลาดทุนไทยอีกระลอกหนึ่ง