xs
xsm
sm
md
lg

สัปดาห์แห่งการลดลงแรงของราคาทองคำ ...ออสสิริส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่เราได้ให้ภาพของเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบต่อราคาทองคำในต้นปี 2556 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในสัปดาห์นี้ ตลาดจีนได้ปิดทำการอย่างต่อเนื่อง จากการเฉลิมฉลองในเทศกาลตรุษจีน ราคาทองคำจึงแทบจะไม่ได้รับปัจจัยบวกจากเอเชียโดยรวม ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขดุลการค้า และดัชนีราคาผู้บริโภคในจีนที่ประกาศ 2.92 หมื่นล้านจาก 3.16 หมื่นล้านและ 2% จาก 2.5% ตามลำดับเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ได้แสดงถึงภาวะชะลอตัวลงนั้น กลับสร้างความกังวลแก่นักลงทุน และได้ทำให้ราคาทองคำปรับลดลงแทน [Forexfactory]

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงการว่างงานในสเปนที่ประกาศ 1.32 แสนตำแหน่งจาก -5.91 หมื่นตำแหน่ง ตัวเลขยอดค้าปลีกรายเดือน และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเบื้องต้นรายเดือนในอิตาลีที่ -0.8% จาก 0.1% และ 0.2% จาก 0.3% ตามลำดับ ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้ารายปี และดัชนีราคาบ้านรายเดือนในอังกฤษที่ 0.6% จาก 1.5% และ -0.2% จาก 1% ตามลำดับได้ส่งผลกดดันต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ ภาพนี้ต่อเนื่องมาจนถึงต้นสัปดาห์นี้ จากความคิดเห็นของประธานธนาคารกลางแห่งยุโรปที่ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มฯที่ช้ากว่าคาดการณ์ ได้ส่งผลกระทบต่อการอ่อนค่าของค่าเงินยูโร และได้สร้างความผันผวนเชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม รวมไปถึงราคาทองคำ และมีตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมรายเดือนในฝรั่งเศสที่ประกาศ -0.1% จาก 0.5% เป็นตัวแปรที่สำคัญที่ได้ทำให้ราคาทองคำปรับลดลงได้อย่างต่อเนื่อง [Forexfactory]

ทางฝั่งสหรัฐฯนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญโดยรวมได้ปรับตัวดีขึ้นมา เช่น เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนที่ตัวเลขดุลการค้าได้ประกาศที่ -3.85 หมื่นล้านจาก -4.87 หมื่นล้าน ตามมาด้วยตัวเลขดุลงบประมาณที่ 2.9 พันล้านจาก 3 ร้อยล้านได้เป็นอีกปัจจัยหลักที่ส่งผลลบต่อราคาทองคำ โดยที่กองทุน SPDR ได้ถือครองทองคำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดถือครองที่ระดับ 1,325.99 ตัน [spdrgoldshares]

วันนี้จนถึงวันพรุ่งนี้ เราแนะนำให้นักลงทุนจับตาดูความคืบหน้าของการประชุม G20 ณกรุงมอสโค ประเทศรัสเซีย โดยจะเป็นการรวมกลุ่ม G7 ซึ่งประกอบไปด้วย แคนาดา อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐฯเข้าไว้ด้วยกัน และเนื้อหาหลักในการประชุมมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับ “สงครามค่าเงิน (Currency War)” ซึ่งน่าจะสร้างความผันผวนต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวมได้อย่างต่อเนื่อง [Forexfactory]

ภาพที่เรามองไปจนถึงสิ้นเดือนแห่งความรักนี้  ปัจจัยหลักที่มีแนวโน้มที่จะกดดันราคาทองคำได้อย่างมีนัยสำคัญได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ภาพความกังวลในความขัดแย้งของการเมืองในสเปน อิตาลี และสัญญาณแห่งการฟื้นตัวของสหรัฐฯ โดยสังเกตจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญหลายตัว อาทิ ตัวเลขภาคการผลิต ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขรายได้ต่อบุคคลรายเดือน ดัชนีผู้จัดการจัดซื้อ ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ตัวเลขดัชนีราคาบ้าน ตัวเลขยอดขายสินค้าคงทนรายเดือน ตัวเลขคนว่างงานที่ขอสวัสดิการจากภาครัฐ เป็นต้น ว่าจะมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด โดยเรามองว่า จากความต่อเนื่องของการพยายามหามาตรการต่างๆมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มจะทำห้ภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มกลับมาฟื้นตัว และอาจส่งผลลบต่อราคาทองคำได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น