xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ อุ้ม SME อ่วม 300 บ.จัดหมื่น ล.ปล่อยกู้หมุนเวียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสิกรฯ ยันพร้อมช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 จัดมาตรการรองรับ 3 มาตรการ “พักชำระเงินต้น-ปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง-ให้คำปรึกษา” เผยเตรียมวงเงินไว้ 1 หมื่นล้าน หากไม่พอจัดเพิ่มเติมอีก

นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบพบว่า มีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ และภาคอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการในจังหวัดภาคเหนือ-อีสานจะได้รับผลกระทบมากเพราะต้องขึ้นค่าแรงในอัตราที่สูง ขณะที่ในภาคใต้จะมีอัตราค่าแรงที่เกินกว่า 300 บาทอยู่แล้ว ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้น เอสเอ็มอีอุตสาหกรรมสิ่งทอ เซรามิก จะได้รับผลกระทบมาก เป็นต้น

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นธนาคารก็ได้จัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการใน 3 ด้านคือ พักชำระเงินต้น 6 เดือน ปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องอีกไม่เกิน 20% ของวงเงินกู้ หรือไม่เกิน 10 ล้านบาท และธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน โดยโครงการนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และเตรียมวงเงินปล่อยกู้ไว้ 10,000 ล้านบาท

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารก็ยังคงทรงตัวจากสิ้นปี 2555 ที่อยู่ในระดับ 3.2% และตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.95%

“โครงการบรรเทาผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท เพิ่งเริ่มเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งตอนนี้ก็มีผู้ประกอบการทยอยเข้ามาเรื่อยๆ และหากวงเงินไม่พอ ธนาคารก็พร้อมที่จะจัดให้เพิ่ม จึงเชื่อว่าด้วยโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ผ่านจากปัญหานี้ไปได้”

สำหรับกรณีผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่านั้น จะต้องดูทั้ง 2 ฟาก ก็คือ ผู้ส่งออกได้รับผลด้านลบ ขณะที่นำเข้าก็ได้ผลบวก ดังนั้น ถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะสนับสนุนให้ผู้ส่งออกนำเข้าเครื่องจักรต่างๆ เพื่อลดต้นทุน พร้อมก้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก หรือนำเข้า ควรมีการทำฟอร์เวิร์ดเพื่อปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นโจทย์ที่เราไม่ถนัดแล้วอาจทำให้เกิดความเสียหายได้

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบเอสเอ็มอีรายใหม่ โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของโครงการ AIS The StartUP เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ซึ่งธนาคารจะมีการจัดอบรมด้านการบริหารจัดการต่อยอดให้ผู้บริหารเพิ่มเติมจากไอเดียด้านผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริหารมีอยู่ โดยธนาคารตั้งเป้าปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ 1.5 พันล้านบาทในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น