ธ.ก.ส. คาดปีบัญชี 55 กวาดกำไรสุทธิ 7.9 พันล้าน ยันสภาพคล่องยังแข็งแกร่ง มั่นคงมาก โดยมีส่วนเกินถึง 1.9 แสนล้าน ฝากบอกใครที่เป็นห่วงขอให้สบายใจได้ ลั่นยังสามารถรองรับการทำโครงการของภาครัฐได้อีกเยอะ
นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2555 ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 (1 เมษายน-31 ธันวาคม 2555) ว่า ได้จ่ายสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 2555 จำนวน 107,710 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.52 ทำให้มียอดสินเชื่อรวมที่กระจายตัวสู่ภาคชนบทแล้วทั้งสิ้น 1,109,456 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับการบริการรวม 7.08 ล้านครัวเรือน มียอดเงินฝากรวม 9.32 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประเภทออมทรัพย์ทวีโชค ที่รับฝากจากประชาชนรายย่อย และเงินฝากดอกเบี้ยสุขใจ
สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ธ.ก.ส.มีสินทรัพย์รวม 1,125,834 ล้านบาท หนี้สินรวม 1,036,660 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 89,174 ล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 49,180 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 42,681 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6,499 ล้านบาท ขณะที่ NPLs คิดเป็นอัตราร้อยละ 5.75 ด้านความสามารถในการทำกำไร ธ.ก.ส.บริหารสินทรัพย์ได้ผลตอบแทน (ROA) อัตราร้อยละ 0.81 ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีบัญชีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.83 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 9.86 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของ ธ.ก.ส.ที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.50
“คาดการณ์เมื่อสิ้นปีบัญชี 31 มีนาคม 2556 ธ.ก.ส.ประมาณการกำไรสุทธิไว้ที่ 7,949 ล้านบาท” นายบุญไทย กล่าว
สำหรับโครงการต่างๆ เช่น โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 ได้ดำเนินการออกบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้เกษตรกร จำนวนกว่า 2,087,673 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 40,467 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับบัตรสินเชื่อแล้ว 1,313,281 ราย และมีการใช้จ่ายผ่านบัตรจำนวน 724,463 ราย จำนวนเงิน 2,261 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายด้านปัจจัยการผลิต คือ ปุ๋ย 1,895 ล้านบาท เมล็ดพันธุ์ 105 ล้านบาท เคมีภัณฑ์ 124 ล้านบาท และน้ำมนัเชื้อเพลิง 137 ล้านบาท
ซึ่ง ธ.ก.ส.มีเป้าหมายจะขยายฐานบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปสู่ชาวสวนปาล์ม และชาวสวนยาง ประมง โดยคาดว่าภายในปีบัญชี 2556 จะขยายบัตรสินเชื่อเกษตรกรได้ 4 ล้านใบ
โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย และประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท ในปี 2555 มีเกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 2,225,794 ราย จำนวนเงิน 250,592 ล้านบาท แบ่งเป็นการพักต้นและดอกเบี้ยร้อยละ 3 จำนวน 1,951,566 ราย จำนวนเงิน 228,664 ล้านบาท และลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 จำนวน 274,228 ราย จำนวนเงิน 21,928 ล้านบาท
โครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 ถึง 15 กันยายน 2556 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,306,080 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 9.33 ล้านตัน จำนวนเงิน 151,599 ล้านบาท มีการสีแปรสภาพเป็นข้าวสารส่งมอบคลังสินค้ากลางโดยองค์การคลังสนค่า (อคส.) ไปแล้ว 4.49 ล้านตันข้าวสาร, โครงการรับจำนำมันสำปะหลังปีการผลิต 2555/56 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2555 สิ้นสุด 31 มีนาคม 2556 มีการทำสัญญา และจ่ายเงินกู้เกษตรกร 3,934 ราย ปริมาณมันสำปะหลัง 7 แสนตัน จำนวนเงิน 1,867 ล้านบาท, โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพราคายาง มีการจ่ายเงินกู้ผ่านสหกรณ์ต่างๆ และองค์การสวนยาง จำนวนเงิน 22,000 ล้านบาท
นายบุญไทย กล่าวว่า ขณะนี้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส.เข้มแข็ง และแข็งแรงมาก มีสภาพคล่องส่วนเกิน 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งใน 1.9 แสนล้านบาทนี้ ธ.ก.ส.จะสำรองเงินไว้เพื่อใช้ในด้านต่างๆ รวม 1.6 แสนล้านบาท จะทำให้มีเงินเหลือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับเงินฝากที่ ธ.ก.ส.คาดว่าภายในปีบัญชี 2556 จะมีประชาชนมาฝากเงินอีกประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จะทำให้ ธ.ก.ส.ยังมีเงินในระบบ 4.5 หมื่นล้านบาท
“ใครที่เป็นห่วงสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.สบายใจได้ ตอนนี้สถานะการเงินของเรายังเข้มแข็ง แข็งแกร่ง มั่นคงมาก ยังสามารถรองรับการทำโครงการของภาครัฐได้อีก” นายบุญไทย กล่าว