xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ” เปิดผลวิจัย “ขรก.” รายได้ดีกว่าเอกชน ชี้การปรับฐานเงินเดือน “หมื่นห้า” เพิ่มความเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทีดีอาร์ไอ” เปิดผลการศึกษาเงินเดือน 1.5 หมื่น ในระบบราชการ ชี้ชัด “ขรก.ไทย” มีรายได้ตลอดชีพสูงกว่าลูกจ้างเอกชน ทั้งยังมีสวัสดิการ และเบี้ยประชุม ระบุยิ่งมีการปรับขึ้นเงินเดือน 1.5 หมื่น ระดับปริญญาตรี ยิ่งเพิ่มช่องว่างให้กว้างขึ้น แถมยังมีความมั่นคง ไม่ผันผวนตาม ศก.

น.ส.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งร่วมทำการศึกษานโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือนในภาคราชการ เน้นพิจารณารายได้ตลอดชีวิตของลูกจ้างราชการเปรียบเทียบลูกจ้างเอกชน โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรไตรมาส 3 ทั้งหมด 31 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2553 พบว่า การเป็นข้าราชการ และอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ จะมีรายได้ตลอดชีวิตค่อนข้างดีกว่าการเป็นลูกจ้างเอกชน โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี เนื่องจากการเป็นลูกจ้างเอกชนจะมีรายได้ที่ผันผวน แม้ดูเหมือนว่าผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีจะมีรายได้ดีในบางช่วงก็ตาม โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ของลูกจ้างเอกชนจะตกแรงมาก ในขณะที่รายได้ของข้าราชการจะไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับข้าราชการที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ จะมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าลูกจ้างเอกชน โดยเฉพาะเมื่อมีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป แต่ความผันผวนของรายได้ของข้าราชการก็มักจะต่ำกว่า ดังนั้น โดยเฉลี่ยข้าราชการไม่ได้มีรายได้ต่ำกว่าลูกจ้างเอกชนเสมอไป นอกจากนี้ มูลค่าสวัสดิการที่ข้าราชการได้รับมีประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่ารายได้ตลอดชีวิต ในขณะที่สวัสดิการสำหรับลูกจ้างเอกชนนั้นมีมูลค่าไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบรายได้รวมสวัสดิการที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน

เอกสารดังกล่าวยังระบุว่า ข้าราชการมีรายได้ตลอดชีวิตสูงกว่าลูกจ้างเอกชนในทุกๆ ระดับการศึกษา ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และนอกกรุงเทพฯ แต่เมื่อเปรียบเทียบโดยใช้มูลค่า ณ ราคาปี 50 จะเห็นว่า ข้าราชการที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีมักได้รับรายได้ตลอดชีพสูงกว่าลูกจ้างเอกชน

ทีดีอาร์ไอยังเห็นว่า การขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และต่ำกว่า น่าจะยิ่งทำให้ความแตกต่างของรายได้ระหว่างภาครัฐ และเอกชนในภูมิภาคต่างๆ สูงขึ้นไปอีก รวมทั้งภาระเงินงบประมาณที่เกิดจากข้าราชการบรรจุใหม่ จะน้อยกว่าภาระเงินงบประมาณที่จะเกิดจากการปรับฐานเงินเดือนให้ข้าราชการเก่า เพราะทุกคนจะได้รับการปรับฐานเงินเดือนชดเชยขึ้นเพื่อไม่ให้น้อยกว่าข้าราชการเข้าใหม่ และจำนวนข้าราชการเข้าใหม่จะมีจำนวนน้อยตามนโยบายการลดจำนวนข้าราชการ

โดยผลในการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การปรับฐานเงินเดือนให้แก่ข้าราชการที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีจะมีผลทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ตลอดชีพระหว่างข้าราชการ และลูกจ้างเอกชนยิ่งสูงมากขึ้น ในขณะที่รายได้ตลอดชีพของข้าราชการที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้นยังน้อยกว่าภาคเอกชน นับว่าเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างบุคลากรราชการที่ไม่ถูกจุด ในอนาคตนั้น จำนวนข้าราชการจะลดลง และเน้นให้ข้าราชการเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ การปรับฐานเงินเดือนจึงควรมุ่งเน้นไปยังตำแหน่งงานที่มีความรับผิดชอบสูง ส่วนจำนวนข้าราชการระดับใช้ความรู้ หรือทักษะน้อยนั้นต้องลดจำนวนลง งานหลายประเภทควรให้ภาคเอกชนรับไปทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น