xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” แนะ 7 เสาหลักหนุน ศก.ไทยแกร่ง เผยประเทศยังมีบุญเก่าคอยช่วยหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช (แฟ้มภาพ)
“กรณ์” แนะรัฐบาลต้องสร้าง 7 เสาหลักเสริมความเข้มแข็งให้ระบบ ศก.ไทยระยะยาว เห็นพ้อง “หม่อมอุ๋ย” มองจำนำข้าวก่อหนี้สาธารณะท่วม คาดใน 5 ปี ขาดทุนยับ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพี เสี่ยงทำประเทศล้มละลาย ยอมรับ ศก.ไทยยังมีบุญเก่าคอยช่วยหนุนให้เดินไปได้

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา “โจทย์ท้าทายอนาคตเศรษฐกิจไทย” โดยมองว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง 7 เสาหลักเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ประกอบด้วย 1.นโยบายการเงินการคลังที่มีเสถียรภาพ 2.ระบบโครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน 3.การพัฒนาระบบการศึกษา 4.การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และการพัฒนาระบบราชการ 5.การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน 6.การรักษาวินัยการเงินการคลัง และ 7.การพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างความเสมอภาคต่อคนทุกระดับในประเทศ

อดีต รมว.คลัง ยังแสดงความเห็นด้วยกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่มองว่า นโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะสร้างผลขาดทุน และทำให้ยอดหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63% ได้ในอีก 5 ปี ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ปฏิเสธที่จะพูดถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงในโครงการการรับจำนำข้าวครั้งนี้ที่ใช้งบกว่า 4.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มองว่าโครงการรับจำนำข้าวมีโอกาสขาดทุนอย่างน้อย 2 แสนล้านบาท/ปี และยังไม่รวมค่าบริหารจัดการที่เกิดขึ้นอีกปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรวมแล้วในระยะ 5 ปีข้างหน้าอาจมียอดขาดทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของ GDP ซึ่งทำให้เป็นความเสี่ยงต่อระดับหนี้สาธารณะในอนาคต

นายกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่ามีความโชคดีที่ยังมีบุญเก่าที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น 1.ระบบการปกครอง ซึ่งโครงสร้างของเศรษฐกิจ และกฎหมายต่างๆ ที่มีความพร้อมต่อประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ 2.นโยบายอุตสาหกรรมในอดีต โดยเฉพาะโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด

3.ระบบตลาดทุน ที่เป็นแรงดึงดูด และส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้พัฒนาไปสู่อนาคตได้ 4.เสถียรภาพการเงิน-การคลัง ซึ่งจากการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลังในอดีตที่ผ่านมา ช่วยทำให้รัฐบาลปัจจุบันสามารถมีฐานที่มั่นคงในการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์สำหรับอนาคตประเทศไทย

ดังนั้น เมื่อประเทศไทยมีความพร้อมในด้านต่างๆ เหล่านี้แล้ว สิ่งที่คาดว่าหวังกับประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า คือ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นของทั้งภาคการผลิต ภาคการเกษตร ตลอดจนภาคบริการต่างๆ

“เราต้องหวังสูง เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้คนไทยได้ ตัวอย่างเช่น GDP ในปัจจุบันที่ 11 ล้านล้านบาท ใน 20 ปีข้างหน้า เราหวังจะเพิ่มเป็น 50 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 5% รวมกับเงินเฟ้ออีก 3% น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้นถ้าดูจากผลประกอบการของบริษัทในตลาดเพิ่มขึ้นปีละ 15% เป็นเป้าหมายที่สามารถทำได้” นายกรณ์ กล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น