xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. เร่งแผนช่วย “เอสเอ็มอี” เข้าตลาด เปิดทางด่วน “ไอพีโอ” เน้นหุ้นไฮเทค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรพล โสคติยานุรักษ์
ก.ล.ต. เปิดแผนดำเนินงานปี 56 มุ่งช่วยเหลือ “เอสเอ็มอี” เข้าระดมทุน เตรียมช่องทางลัด “ไอพีโอ” โดยเฉพาะหุ้นบริษัทเทคโนโลยีใหม่

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของสำนักงานมีการเตรียมความพร้อมเน้นในเรื่องการสนับสนุนให้บริษัทขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นส่วนสำคัญ โดยสิ่งที่จะทำก็คือ โครงการหุ้นนวัตกรรมความภูมิใจของไทย เนื่องจากปัจจุบัน วิวัฒนาการของการสร้างเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นมาก จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ผลิตสินค้า แต่การพัฒนาต่อยอดสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ จึงควรให้การสนับสนุนในเรื่องการระดมทุน

“ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพิจารณาเกณฑ์ให้ความสะดวกแก่กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ โดยปีหน้าจะมีความชัดเจน ซึ่งสำนักงานจะหาช่องทางลัดในการใช้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งระดมทุน จะทำให้ง่าย และสะดวกมากกว่าเดิม โดยปีหน้าน่าจะเห็นอย่างเป็นรูปธรรม”

ทั้งนี้ เขายังกล่าวถึงกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะให้ความช่วยเหลือว่า จะมีการสร้างรูปแบบ หรือกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจน เพื่อจะให้มีเวทีในการเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอาจจะมีการแสดงความชัดเจนแยกออกมาให้เห็นว่า เป็นบริษัทเอสเอ็มอี เพื่อที่จะให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้ามาลงทุนได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่ตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าโปรแกรมเอสเอ็มอี วานู (SME VANU)

นอกจากนี้ ยังจะมีการพิจารณาในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ และผ่อนเกณฑ์การกระจายหุ้นไอพีโอ ซึ่งในกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีกองทุนร่วมลงทุน หรือเวนเจอร์แคปปิตอล มากว่า 3 ปี จะสามารถเข้าระดมทุนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมองว่ากองทุนดังกล่าวมีฐานะเป็นนักลงทุนสถาบัน หากจะเข้าไปลงทุนในบริษัทใด และร่วมถือหุ้นมาเป็นเวลานาน แสดงว่าบริษัทนั้นมีมาตรฐานระบบการบริหาร และการจัดการอยู่ในระดับที่ดีกว่าบริษัททั่วไป

นายวรพล กล่าวเสริมว่า ก.ล.ต. จะมีการสานต่อโครงการหุ้นใหม่ความภูมิใจต่างจังหวัด ภาค 2 หลังจากที่โครงการแรกประสบความสำเร็จ และมีผู้ที่เข้ามาร่วมโครงการ 200 กว่าราย และสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บางส่วนในปีนี้ และปีถัดไป ขณะเดียวกัน มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการไม่ทันยื่นขอเข้าโครงการอีก ทำให้ ก.ล.ต.จึงต้องขยายโครงการต่อไปอีก

นอกจากนี้ ก.ล.ต.จะมีการปรับเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการปรับปรุงมาตรฐาน และคุ้มครองผู้ลงทุน โดยอยากให้ที่ปรึกษาทางการเงินมีบทบาทในการดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ลงทุนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาภายใต้การดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. มีอยู่ 70-80 บริษัท มีความพร้อมที่ควรพัฒนาคุณภาพ อย่างเช่นอาจจะให้ที่ปรึกษาทางการเงิน ต้องดูแลบริษัทที่ออกไอพีโอไปแล้ว 2-3 ปีต่อเนื่อง จากปัจจุบัน อยู่ในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี

ขณะเดียวกัน การพิจารณาจากต่างประเทศให้บริการดูแลถึง 3 ปี หรืออาจจะต้องให้ที่ปรึกษาทางการเงินเข้าไปดูแลก่อนไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 2 ปี อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับเกณฑ์ดังกล่าว บริษัทใดสามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดก็น่าจะมีสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ ให้เพื่อจูงใจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น