xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.ตั้งกองทุนคุ้มครอง TFEX ประเดิม 1 ม.ค.นี้-มูลค่าเริ่มต้น 100 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในอนุพันธ์ 1 ม.ค. นี้ มูลค่ากองทุน 100 ล้านบาท  ตลาดอนุพันธ์ ร่วมลงขัน 50 ล้านบาท อีก 50 ล้านบาท โบรกเกอร์สมาชิก  เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนว่าทรัพย์สินของผู้ลงทุนที่มอบไว้ในความดูแลของโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกกองทุนนั้นจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุน หากโบรกเกอร์สมาชิกล้มละลาย หรือเกิดข้อพิพาทแล้วอนุญาโตตุลาการสั่งชี้ขาดให้โบรกเกอร์รายนั้นคืนทรัพย์สินแก่ผู้ลงทุน แต่โบรกเกอร์รายดังกล่าวไม่ปฏิบัติตาม  

นายศักรินทร์ ร่วมรังษี  ผู้ช่วยผู้จัดการ  สายงานกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการให้มีการตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ โดยคาดว่าจะจัดตั้งได้ในวันที่ 1 มกราคม 2556  โดยจะมีมูลค่ากองทุน อยู่ที่ 100 ล้านบาท  โดยทางตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX จะมีการใส่เงินจำนวน 50 ล้านบาท และที่เหลืออีก 50 ล้านบาท โบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกในตลาดอนุพันธ์จะมีการร่วมใส่เงินเข้ามาตามสัดส่วนมูลค่าการซื้อขาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

                สำหรับการที่จะมีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนในตราสารอนุพันธ์เหมือนกับผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับโบรกเกอร์มีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองนักลงทุนในหลักทรัพย์ (SIPF) เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนที่ซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกกองทุน ว่า ทรัพย์สินของผู้ลงทุนที่มอบไว้ในความดูแลของโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกกองทุนนั้นจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุน ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

                ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในหลักทรัพย์มีมูลค่ากองทุนรวม 600 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 500 ล้านบาท โดยตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นมานั้น ยังไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่นักลงทุนเลย เพราะกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างโบรกเกอร์ และนักลงทุนเกิดขึ้นนั้น ทางโบรกเกอร์มีการดำเนินการตกลงกับทางนักลงทุนได้  จึงทำให้ไม่ต้องมาถึงกระบวนการที่กองทุนจะต้องมีการจ่ายเงินชดเชยให้

นางเกศรา มัญชุศรี  กลุ่มงานพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า  ตลาดอนุพันธ์ฯ ได้มีการหารือกับสมาชิกตลาดอนุพันธ์ ซึ่งก็มีความเห็นร่วมกันว่า สมาชิกทุกรายจะร่วมในการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาจากเดิมนั้นจะแล้วแต่ความสมัครใจของโบรกเกอร์ว่าจะเข้าร่วมในการจัดตั้งกองทุน โดยเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ลงทุนรายบุคคลในตลาดอนุพันธ์นั้นก็จะเหมือนกับการคุ้มครองผู้ลงทุนในหุ้น คือ ผู้ลงทุนมีสิทธิได้รับการชดเชยจากกองทุนฯ เป็นเงินสด หรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากผู้ลงทุนไม่ได้รับคืนทรัพย์สินที่มอบไว้ในความดูแลของโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

สำหรับกรณีแรกคือ โบรกเกอร์ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฯ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามกฎหมายล้มละลาย  และในกรณีที่โบรกเกอร์ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฯ กับผู้ลงทุนมีข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้โบรกเกอร์รายนั้นคืนทรัพย์สินแก่ผู้ลงทุน แต่โบรกเกอร์รายดังกล่าวไม่ปฏิบัติตาม  ทั้งนี้ การคุ้มครองจะไม่รวมถึงผลขาดทุนที่เกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม  โดยเงินชดเชยที่จะจ่ายให้นั้นรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท

นายวิรไท สันติประภพ  รองผู้จัดการ  สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า  กองทุน SIPF ยังไม่ให้ความคุ้มครองนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นผ่านระบบเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์อาเซียน (อาเซียน ลิงก์) ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยไทยที่ซื้อขายหุ้นอาเซียน หรือนักลงทุนอาเซียนที่เข้ามาซื้อขายหุ้นไทย โดยในอนาคตอาจจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อขยายความคุ้มครองของกองทุนให้ครอบคลุมการซื้อขายผ่านระบบดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น