บอร์ด กนง.ยอมรับความเสี่ยง ศก.ชะลอตัวเริ่มมีผลชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อลดลง “ณรงค์ชัย” ส่งสัญญาณการประชุม 5 ก.ย.นี้ ไม่มีการปรับขึ้น ดบ.แน่นอน แต่จะมีการปรับลด ดบ.นโยบายหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลสั่ง พร้อมย้ำ “ธปท.-กนง.” มีความรับผิดชอบที่ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ใช่ทำให้ถูกใจ
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) ในฐานะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า ขณะนี้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจากภาวะเงินเฟ้อเริ่มจะลดน้อยลง แต่กลับมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจชะลอตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหน้าที่ของ กนง. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนความเสี่ยงก็จะต้องพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้สอดคล้องกัน นอกจากนั้น ที่ประชุมจะทบทวนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ อาจจะปรับลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 7% หลังพิจารณาคำสั่งซื้อต่างๆ และการชำระเงินจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าที่ประชุม กนง.วันที่ 5 กันยายน 2555 นี้ คงไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอน แต่จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งบอร์ด กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลสั่ง แต่ ธปท.และ กนง.มีความรับผิดชอบที่ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ใช่ทำให้ถูกใจ
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ขณะนี้คงต้องเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพีจากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 5%
“เมื่อการส่งออกลงมาก็ต้องมีการปรับข้อมูล การประชุม กนง.วันที่ 5 ก.ย.คงต้องมาทบทวนเป้าหมายการส่งออกใหม่ การพิจารณาด้านนโยบายการเงินซึ่งคำนึงทั้งภาวะเงินเฟ้อ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”
ขณะนี้น้ำหนักการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การจะใช้นโยบายการเงินมาเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัวคงทำได้ไม่ทันที เพราะเป็นนโยบายที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่นโยบายที่ทำเพื่อให้กระตุ้นการเติบโต (Growth) ดังนั้น ส่วนหนึ่งต้องพึ่งการใช้จ่ายภาครัฐ แต่ยังช้ากว่าเป้า และยังไม่ได้ตามแผน
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในขณะนี้ นายณรงค์ชัยมองว่ามีการขยายตัวดี และมีการใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเร่งกลไกนี้
ส่วนการแถลงข้อมูลในแผนการบริหารจัดการน้ำโดยนายกรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ เชื่อว่าจะทำให้เห็นข้อมูล และแผนงานที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมา แผนการบริหารจัดการน้ำขาดการดูแล เมื่อเกิดปัญหาปริมาณน้ำมากกว่าที่คาดจึงเกิดปัญหาขึ้น และขณะนี้การบริหารจัดการในด้านต่างๆ เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว