xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อทั้งปียังไม่น่าห่วง กสิกรฯ แนะจับตาราคาน้ำมัน-สินค้าโภคภัณฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกร คาดเงินเฟ้อครึ่งปีหลังต่ำกว่าร้อยละ 3.5 แม้สิ้นเดือนกรกฎาคม ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.73 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เชื่อช่วงที่เหลือของปีไม่น่ากังวล แนะจับตาราคาน้ำมัน-สินค้าโภคภัณฑ์ตลาดโลกขึ้นราคา แต่เชื่อนโยบายรัฐบรรเทาค่าครองชีพยังช่วยกดดันอยู่

รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อย 2.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาที่ร้อยละ 1.87 ก็อาจเป็นสถานการณ์ที่สะท้อนว่า แรงกดดันต่อระดับราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ยังคงมีความกังวลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ที่อาจไม่ราบรื่นท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน

ขณะที่การตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของผู้ประกอบการ และเครื่องมือในการดูแลทิศทางราคาพลังงานในประเทศของรัฐบาล ก็ยังคงมีผลคาบเกี่ยวไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2555

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 2555 จะขยับสูงขึ้น แต่แนวโน้มเงินเฟ้อที่ไม่น่าจะเร่งตัวขึ้นอย่างน่ากังวลในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็คงจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัดต่อตลาดการเงิน และทิศทางนโยบายการเงินของ ธปท.ในขณะนี้

สำหรับตัวแปรที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2555 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คงต้องจับตาปัจจัยทางด้านอุปทานของตลาดน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์อาหารในตลาดโลก ที่ส่งผลกระทบให้ราคาเริ่มขยับสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นครึ่งหลังของปี 2555

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาพลังงานในประเทศของไทย จะไม่ขยับตามทิศทางในตลาดโลกในอัตราที่เท่ากัน แต่ก็คงต้องยอมรับว่า นอกจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก จะมีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศแล้ว ยังมีผลเพิ่มแรงกดดันต่อเนื่องไปที่ค่าไฟฟ้า Ft รอบถัดไป ในเดือนกันยายน-ตุลาคม ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ราคาโภคภัณฑ์อาหารที่แปรปรวนไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ ก็อาจเพิ่มภาระด้านต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการในบางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากราคายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน

แต่กระนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวทางการบริหารจัดการทิศทางราคาพลังงานในประเทศของรัฐบาล ทั้งในส่วนที่ผ่อนปรนเงื่อนเวลาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานหลายประเภท และการต่ออายุการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้กลไกการส่งผ่านต้นทุนด้านพลังงานไม่สร้างแรงกดดันต่อทิศทางราคาสินค้าของผู้บริโภคมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรป และความกังวลต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ยังคงกดดันความเคลื่อนไหวของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และน้ำมันไม่ให้มีลักษณะการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะยังคงประเมินว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 จะสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แต่ความกังวลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง (ที่อาจไม่ราบรื่นท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน) รวมถึงมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาล และการตรึงราคาสินค้าของผู้ประกอบการ ที่กินเวลาคาบเกี่ยวไปถึงช่วงไตรมาสที่ 3/2555 น่าจะเป็นปัจจัยที่ผ่อนแรงกดดันเงินเฟ้อไปได้บางส่วน และอาจทำให้มีความเป็นไปได้ที่ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในปี 2555 จะลดต่ำลงกว่าร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เงินเฟ้อเดือน ก.ค.ปรับขึ้น
สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อไทยในเดือนกรกฎาคม 2555 เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงชะลอตัว โดยระดับราคาสินค้าผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35 (MoM) จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม ขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 2.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์จากผลสำรวจของ Reuters คาดไว้ที่ร้อยละ 2.60 (YoY) และปรับสูงขึ้นจากร้อยละ 2.56 (YoY) ในเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารสด และพลังงาน ในเดือนกรกฎาคม 2555 ค่อนข้างทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า (เพิ่มเพียงร้อยละ 0.03 MoM) แต่ปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ (มีการยกเลิกมาตรการบางส่วนของรัฐสำหรับการใช้ไฟฟ้าฟรีในเดือน ก.ค. 2554) ก็ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 มาที่ระดับ 1.87 (YoY) จากร้อยละ 1.92 (YoY) ในเดือนมิถุนายน การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2555 เป็นไปตามทิศทางราคาอาหารสด และพลังงานที่ขยับขึ้นในระหว่างเดือนร้อยละ 0.93 (MoM) และร้อยละ 1.53 (MoM) ตามลำดับ ขณะที่ราคาสินค้าอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้ามากนัก เพราะยังอยู่ในช่วงตรึงราคาสินค้าของผู้ประกอบการไปจนถึงเดือนกันยายน 2555 นี้

ทั้งนี้ แม้ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ (-0.70% MoM) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (-1.13% MoM) และเครื่องประกอบอาหาร (-0.03% MoM) จะปรับตัวลง แต่ราคาอาหารสดอื่นๆ เช่น ผัก/ผลไม้ รวมถึงปลา/สัตว์น้ำ (+3.32% และ +0.49% MoM ตามลำดับ) ยังคงปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น