ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองภาพ ศก.โลก ยังไม่หมดหวัง คาดเฟดต้องได้ใช้ QE3 หากวิกฤติยุโรปเลวร้ายลง ยอมรับ เครื่องมือทางการเงินโลก กำลังเผชิญภาวะอัมพาต ไม่สามารถเลือกนำมาใช้แก้ปัญหาได้ ชี้ การผ่อนการคุมเข้ม และเพิ่มความยืดหยุ่นของกรอบการรักษาวินัยทางการคลัง อาจเป็นทางออกสำคัญ และลดความเสี่ยงจากวิกฤตในรอบนี้
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่ประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 19-20 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา มีผลให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเผชิญแรงเทขายเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการยอมรับว่า เฟดพร้อมจะดำเนินการเพื่อปกป้องเศรษฐกิจ และระบบการเงินของสหรัฐฯ หากสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปเลวร้ายลงก็ตาม
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า หากสถานการณ์วิกฤตหนี้ในยุโรปเลวร้ายลง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็อาจต้องเผชิญกับกระแสการคาดการณ์ และความคาดหวังที่มีต่อการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) รอบใหม่เข้ามาช่วยสนับสนุน และลดความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี แม้มาตรการ QE ของเฟดจะมีส่วนช่วยประคับประคองสภาพคล่องเพื่อให้ตลาดเงินสามารถฟังก์ชันไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดอาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้นถึงกรอบเวลา รายละเอียดของสินทรัพย์ที่จะเข้าซื้อ รวมถึงขนาดวงเงินของ QE รอบใหม่
นอกจากนี้ แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย ที่อาจจะยังคงมีต่อเนื่อง หากวิกฤตหนี้ยุโรปยังไม่มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น ก็จะทำให้จุดยืนเชิงผ่อนคลายของเฟดถูกลดทอนลงไปบางส่วน
ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นในจังหวะที่เฟดประกาศมาตรการ QE ก็คือกระแสเทขายเงินดอลลาร์ฯ ที่น่าจะมีผลเชื่อมโยงมาหนุนตลาดสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงค่าเงินยูโรซึ่งสำหรับทางการยุโรปนั้นการแข็งค่าของเงินยูโรในช่วงที่ความเสี่ยงของวิกฤตหนี้ยูโรโซนเพิ่มมากขึ้น ก็อาจทำให้โจทย์ของการแก้ปัญหามีความซับซ้อนขึ้นไปอีก
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังได้ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป รวมถึงประเทศชั้นนำอื่นๆ ในเวลานี้ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเลือกใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน เพราะแม้สภาวะแวดล้อมทางการเงินที่ผ่อนคลาย อาจจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะถดถอย หรือชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ แต่ก็คงต้องยอมรับว่า ประสิทธิผล และเครื่องมือที่จำกัดมากขึ้นของธนาคารกลาง ไม่น่าจะสามารถพลิกสถานการณ์เศรษฐกิจ และยุติภาวะวิกฤตหนี้ยุโรปได้
ดังนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว การผ่อนความคุมเข้ม และเพิ่มความยืดหยุ่นของกรอบการรักษาวินัยทางการคลังของทางการหลายๆ ประเทศ ก็อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการลดความเสี่ยงของภาวะวิกฤตรอบใหม่ของเศรษฐกิจโลกลง