xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดยังใช้นโยบาย ดบ. ต่ำ ยาวต่อเนื่องถึงปี 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดยังใช้นโยบาย ดบ. ต่ำ ยาวต่อเนื่องถึงปี 57 เพื่อรับมือความเสี่ยง ศก. และดูแลเสถียรภาพ พร้อมเกาะติดท่าที “เฟด” มาตรการ “คิวอี3” มั่นใจไทยรับมือได้ เพราะยังมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด น่าจะยังคงจุดยืนในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากต่อไปในการประชุมรอบที่ 5 ของปี ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2555 หลังจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเชิงลบมากขึ้น ขณะที่มองไปในระยะข้างหน้า นอกจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่อาจกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านความเชื่อมโยงกันที่ค่อนข้างสูงในภาคสถาบันการเงิน รวมถึงภาคการค้า-การลงทุนแล้ว เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญบททดสอบจากประเด็นด้านการคลังในประเทศ หรือ Fiscal Cliff ที่อาจผลักให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ภาวะถดถอย

ดังนั้น ในการประชุมรอบนี้ เฟดคงจะมีการประเมินและทบทวนเครื่องมือต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่มาก โดยมีโอกาสที่เฟดอาจส่งสัญญาณถึงความเหมาะสมในการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำด้วยจังหวะเวลาที่ยาวนานขึ้นกว่าปลายปี 2557 และมีโอกาสเช่นกัน ที่เฟดอาจจะปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยที่ให้แก่สถาบันการเงินสำหรับการนำเงินมาฝากไว้กับเฟด (IOER) จากปัจจุบัน ที่ร้อยละ 0.25 ลงเหลือ 0 สำหรับการดำเนินนโยบายด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม หรือ QE3 ของเฟดในอนาคตนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดคงจะใช้ความระมัดระวังในการประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจก่อนที่จะดำเนินการ และเฟดอาจยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบทำในทันทีตั้งแต่การประชุมรอบนี้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับต่ำมากเช่นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ท่าที และแนวนโยบายจากเฟด ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อกระแสเงินทุน และความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินโลก ประกอบกับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ยูโรโซน ตลอดจนพัฒนาการของเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งจีน และกลุ่มอาเซียน ที่ปัจจุบัน มีบทบาททางการค้า และการลงทุนกับไทยมากขึ้นนั้น คงจะมีผลต่อการประเมินน้ำหนักความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในประเทศ และการกำหนดจุดยืนด้านนโยบายการเงินของทางการไทยในระยะต่อไป โดยแม้ ณ ขณะนี้ โอกาสที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจมีค่อนข้างจำกัด ท่ามกลางการคาดการณ์ถึงแรงส่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีนี้ แต่กระนั้น ทางการไทยคงจะเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยที่ยังพอมีช่องว่างให้ดำเนินการผ่อนคลายเพิ่มเติมได้เช่นกัน หากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น