xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ปั้น SME หน้าใหม่ดึง บสย.ค้ำสินเชื่อ-ตั้งเป้าปล่อย 850 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสิกรฯ จับมือ บสย.-ม.มหิดล ปั้นผู้ประกอบการใหม่ จัดสินเชื่อวงเงินสูงสุด 4 ล้าน ระยะเวลาสูงสุด 7 ปี ให้ บสย.รับประกัน เบี้ยปีแรก 1.75% ปีต่อไป 2.5% คาดหนุนรายใหม่เกิด 1,700 ราย วงเงินสินเชื่อ 850 ล้าน ขณะที่ยอดคงค้าง 6 เดือน 4.2 แสนล้าน โต 6% มั่นใจทั้งปีโต 11% ตามเป้า

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดโครงการ “สนับสนุนผู้ประกอบการมือใหม่ ให้ไปไกลเกินฝัน” ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใหม่ให้เพียงพอต่อความต้องการ โดย บสย. จะเข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการด้วยการค้ำประกันพอร์ตในการปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 7 ปี ในอัตราเบี้ยประกันปีแรก 1.75% ปีต่อๆ ไป 2.5% โดยจัดรูปแบบการให้สินเชื่อออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบมีหลักประกัน ด้วยวงเงินสูงสุด 4 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย MRR+3% และแบบไม่มีหลักประกัน ด้วยวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย MRR+5%

ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดหลักสูตรอบรมเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินทุนที่ได้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินธุรกิจให้แข่งขันการคู่แข่งได้

“จากสถิติผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใหม่ของไทยมีประมาณ 50,000 รายต่อปี ซึ่งพบว่ามีธุรกิจที่สามารถดำเนินกิจการอยู่รอดเกิน 3 ปีได้ไม่ถึงครึ่ง ปัญหาหลักอยู่ที่ไม่มีประสบการณ์ในการจัดการธุรกิจ และเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ธนาคารได้ออกบริการสนับสนุนธุรกิจเริ่มต้นกสิกรไทย มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 7 หมื่นราย มีผู้ได้รับอนุมัติสินเชื่อเพียง 240 ราย วงเงิน 200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งโครงการนี้น่าจะช่วยมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ระยะเวลายาวขึ้น”

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการได้อีกอย่างน้อย 1,700 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อประมาณ 850 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินที่ธนาคารเตรียมไว้เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเริ่มต้นธุรกิจใหม่กว่า 2,300 ล้านบาท

ยอด 6เ ดือนโต 6% มั่นใจทั้งปี 11% ตามเป้า

สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในช่วง 6 เดือนแรกของปีมีจำนวน 4.2 แสนล้านบาท ขยายตัว 6% และคาดว่า ณ สิ้นปีจะมียอดคงค้างที่ 4.7-4.8 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 11% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นายพัชรกล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แต่ก็ยังสามารถประคองตัวอยู่ได้ โดยบางส่วนก็มีกำไรสะสมลดลง หรือเงินทุนลดลง ซึ่งธนาคารก็ได้ดูแลให้คำปรึกษามาโดยตลอด รวมถึงในส่วนของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ไม่ว่าจะเป็นในทางตรง หรือทางอ้อม แต่ในพอร์ตของธนาคารก็มีจำนวนไม่มากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น