แบงก์กสิกรฯ เผยทิศทางผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังน่าห่วง ระบุ ปัจจัยยุโรปกระทบแค่ทางอ้อม แต่ที่หนักเป็นต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แนะแบงก์ปรับตัว พร้อมออกบริการ “สินเชื่อดั่งใจ SME” ให้เลือกอัตราดอกเบี้ย วงเงินผ่อน และกำหนดวันชำระได้ตามสะดวก ตั้งเป้าปล่อยกู้ 2,000 ราย ยอดสินเชื่อ 5,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK)เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลาง และย่อม(เอสเอ็มอี) ของธนาคารเติบโตขึ้น 4% หรือคิดเป็นสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 20,000 ล้านบาท จึงเชื่อว่าปีนี้ สินเชื่อจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 11% จากยอดคงค้างสินเชื่อปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 4.4 แสนล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้ จะอยู่ในระดับเกินกว่า 5 แสนล้านบาท
สำหรับปัจจัยวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรปนั้น ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจส่งออกอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เนื่องจากประเทศที่เป็นฐานหลักทางด้านเศรษฐกิจของยุโรปคือ เยอรมนี กับฝรั่งเศสยังคงดำเนินธุรกรรมเป็นปกติอยู่ โดยธนาคารลูกค้าเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจส่งออกอยู่ 13% ของพอร์ต ซึ่งเป็นลูกค้าส่งออกไปประเทศแถบยุโรปเพียง 10%
“ธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นถูกกระทบจากปัญหายุโรป หรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนไม่มาก และส่วนใหญ่ก็เป็นผลกระทบทางอ้อม แต่ที่น่าห่วงเป็นเรื่องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบโดยตรง และเป็นต้นทุนที่ปรับลดลงไม่ได้ ตรงนี้กระทบเยอะกว่า ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวด้านต้นทุน ขณะที่แบงก์ก็พยายามหาทางผ่อนภาระของผู้ประกอบการมาโดยตลอด”
ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ออกบริการ “สินเชื่อดั่งใจ SME” เพื่อให้เอสเอ็มอีขนาดเล็กและขนาดย่อมที่มียอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาท สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ ด้วยเงื่อนไขที่มีความยืดหยุ่นทั้งอัตราดอกเบี้ย การผ่อนชำระ และช่วงเวลาการชำระเงิน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได และอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว
เลือกผ่อนชำระได้ดั่งใจ ได้แก่ การผ่อนชำระแบบอัตราปกติ ในอัตราที่เท่ากันตลอดระยะเวลากู้ การผ่อนชำระแบบบอลลูน ที่จะผ่อนน้อยในช่วงแรก และการผ่อนชำระตามฤดูกาล สามารถเลือกผ่อนชำระได้ 2 อัตราในแต่ละปี เและเลือกเวลาผ่อนได้ดั่งใจ ให้ผู้ประกอบการเลือกวันผ่อนชำระที่เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อไม่ให้รายจ่ายในแต่ละเดือนกระจุกตัวอยู่ในช่วงปลายเดือนที่จะมีรายจ่ายสูง ทั้งเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
นอกจากนี้ สินเชื่อดั่งใจ SME มีระยะเวลาผ่อนชำระนานสุดถึง 7 ปี โดยมีอัตราอัตราดอกเบี้ยคงที่พิเศษต่ำสุด 7% ใน 3 เดือนแรก สำหรับผู้ที่ขอสินเชื่อ และรับอนุมัติตั้งวงเงินภายในเดือนกันยายนนี้ ยังสามารถขอสินเชื่อวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) หรือวงเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เพิ่ม โดยไม่ต้องสมัครขอสินเชื่อ และไม่ต้องประเมินหลักทรัพย์ประกันใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายธุรกิจได้อย่างคล่องตัว และให้อิสระด้านรูปแบบวงเงินสำหรับเอสเอ็มอี โดยธนาคารตั้งเป้าบริการสินเชื่อดั่งใจ SME ไว้ที่ 2,000 ราย หรือยอดวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้
นายพัชรกล่าวอีกว่า สินเชื่อดั่งใจ SME นั้น ธนาคารตั้งใจที่ช่วยลูกค้าของธนาคารก่อน ไม่ได้หวังดึงลูกค้าใหม่ หรือจากธนาคารอื่่นๆ มากนัก เนื่องจากเข้าใจถึงภาระของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับธนาคารต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากลูกค้าขนาดเล็กจะมีการพิจารณาสินเชื่อที่ค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงต้องมีการระมัดระวังเรื่องวงเงินสินเชื่อด้วย เพราะหากให้วงเงินที่สูงเกินไป ขณะที่กิจการยังไม่พร้อมจะขยายงานก็จะเกิดผลเสีย และทำให้เกิดเอ็นพีแอลได้