xs
xsm
sm
md
lg

หนุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดหุ้นลดค่าธรรมเนียมล่อใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ หนุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้าจดทะเบียน เตรียมลดค่าธรรมเนียมแรกเข้า-ค่าธรรมเนียมรายปี หากเข้าเทรดภายในปี 56 ค่าธรรมเนียม 1 แสนบาทเป็นเวลา 3 ปี กรณีเข้าปี 57-58 คิด 50% ของอัตราปกติเป็นเวลา 3 ปี บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.นี้

ตลาดหลักหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ส่งหนังสือเวียนไปยังบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์สมาชิก และที่ไม่เป็นสมาชิก บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทที่ปรึกษากฎหมายทุกบริษัท เรื่อง การขยายเวลาการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้าจดทะเบียน เนื่องจากคณะกรรมการ(บอร์ด) ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นชอบให้ขยายเวลาการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริม และกระตุ้นให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขยายเวลาการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมแรกเข้า และรายปีของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยคงอัตราส่วนลดตามเดิม โดยสรุปค่าธรรมเนียมในการรับหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานดังนี้ กรณีหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ให้ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปีในอัตราประเภทละ 100,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่หน่วยลงทุนดังกล่าวเริ่มทำการซื้อขาย จากอัตราค่าธรรมเนียมปกติที่คิดค่าธรรมเนียมแรกเข้าร้อยละ 0.05 ของเงินทุนจดทะเบียน ขั้นต่ำที่ 100,000 บาท ขั้นสูง 3 ล้านบาท และคิดอัตราค่าธรรมเนียมรายปี ที่คิดตามความผันแปรตามเงินทุนจดทะเบียนแบบอัตราถดถอย ขั้นต่ำที่ 50,000 บาท ขั้นสูง 3 ล้านบาท

สำหรับกรณีหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ให้ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปีในอัตรา 50% ของค่าธรรมเนียมปกติเป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่หน่วยลงทุนดังกล่าวเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่การยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนนั้น ยังคงต้องเสียค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ จำนวน 50,000 บาท หากมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนนั้นได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียม โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น