“โฆสิต” แจกเกรด “รบ.ปู” สอบผ่าน ผลงาน 1 ปี บริหารประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น และไม่พบปัญหาทุจริต แม้ในบางช่วงอาจจะมีปัญหาทางการเมืองอยู่บ้าง
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในหัวข้อเรื่อง “เปิดมุมมองเศรษฐกิจไทยในกรอบอาเซียน” โดยระบุว่า ขณะนี้ เหลือเวลาที่กลุ่มสมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
ดังนั้น หลายประเทศในกลุ่มมีการปรับตัวค่อนข้างมาก ทั้งการค้าและการลงทุน แต่สิ่งสำคัญคงยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่า การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีผลดี-ผลเสียอย่างไร จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่การแข่งขันการเปิดเสรีในครั้งนี้ หลายกลุ่มอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ แต่บางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจจะแข่งขันลำบาก เพราะด้วยโครงสร้างค่าจ้างแรงงานไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
ดังนั้น เห็นว่าอุตสาหกรรมใดแข่งขันไม่ได้ไม่ควรย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในกลุ่มประเทศ เพื่อนบ้านแทน แต่อุตสาหกรรมไหนไทยมีประสิทธิภาพก็ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยมีการเติบโ ตและเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะขณะนี้ เหลือเวลาไม่กี่ปีที่จะเปิดเสรีการค้า และการลงทุน
นายโฆสิต กล่าวอีกว่า หากมองในแง่การบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าสามารถบริหารประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ในบางช่วงอาจจะมีปัญหาทางการเมืองอยู่บ้าง แต่เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไป ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น และไม่มีปัญหาการบริหารงานไปในทางทุจริต หรือหาผลประโยชน์เกิดขึ้น ก็เชื่อว่าน่าจะบริหารประเทศต่อไปได้
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาภายในกลุ่มยูโรโซนว่าจะมีการแก้ไขปัญหาโครงสร้างหนี้ทั้งระบบภายในกลุ่มได้ดีอย่างไร แต่เชื่อว่า ปัญหานี้จะเกิดผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง และคงบอกไม่ได้ว่าจะสั้น หรือยาว แต่โดยส่วนตัว ผลกระทบจะเกิดกับการส่งออกของไทยไปในตลาดอียูมากน้อยแค่ไหน คงต้องดูว่าประเทศจีน ในฐานะผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก มีการปรับตัวรับผลกระทบยูโรโซนอย่างไร
โดยในปีนี้ หากมองในแง่การเติบโต เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5-6 และการส่งออกจะขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 10 ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่มีการคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแล้ว และยังถือว่ารับได้ ขณะที่การเติบโตด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งระบบปีนี้จะโตอยู่ที่ร้อยละ 6-7 ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มองไว้เช่นกัน